Tuesday, October 23, 2012

เครือเซ็นทรัล

17 กันยายน 2012

...”ครอบครัวจิราธิวัฒน์”... พอดีอ่านข่าวการเสียชีวิตของคุณวันชัย จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และเป็นผู้อาวุโสสำคัญท่านหนึ่งของตระกูลจิราธิวัฒน์ ผมก็เลยอยากจะพูดถึงความสำเร็จของตระกูลนี้เนื่องจากมีการบริหารจัดการบุคลากรลูกหลานของตระกูลเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันแม้จะมาถึงทายาทรุ่นที่ 4 แล้ว ทั้งธุรกิจและความเป็นปึกแผ่นของตระกูลก็ยังเข้มแข็งเหนียวแน่นเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆของธุรกิจครอบครัว
คุณวันชัย จิราธิวัฒน์

“ห้างเซ็นทรัล” นั้นก่อตั้งเมื่อปี 2490 โดยนายเตียง จิราธิวัฒน์ ร่วมกับนายสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ (บุตรชายคนโต) และนับเป็นจุดเริ่มต้นของเครือเซ็นทรัลที่ในวันนี้นอกจากจะเป็นผู้นำในธุรกิจห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังเติบโตขยายก้าวไปสู่ธุรกิจโรงแรมเครือเซ็นทารา, ที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน, กองทุนรวม, รวมทั้งเป็นเจ้าของโรบินสัน, บีทูเอส, ท็อปส์มาร์เก็ต, พาวเวอร์บาย, โฮมดีโป้ และมีแบรนด์สินค้าที่อยู่ในการดูแลอีกมาก เช่น KFC, Otoya, Aunties Anne’s, Mister Donut ฯลฯ นับเป็นอาณาจักรธุรกิจครอบครัวที่ต้นตระกูล(ถ้ายังมีชีวิตอยู่)คงจะภาคภูมิใจมาก
เคยมีผู้ศึกษาว่าธุรกิจครอบครัวของไทยมักจะสิ้นสุดไม่เกิน 2 เจนเนอเรชั่น โดยเจนเนอเรชั่นแรกจะเป็นผู้ก่อตั้ง โดยมากจะเป็นคนจีนโพ้นทะเลที่มาสร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยมักจะเชื่อในสุภาษิตที่ว่า “สิบพ่อค้า ไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง”  หรือ “...โตขึ้นมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” จึงทำให้คนไทยมุ่งรับราชการ ขณะที่คนจีนเรียนรู้ธุรกิจและเติบโตอย่างเข้มแข็ง

เจนเนอเรชั่นที่สองจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะไปต่อหรือจะล้มลงด้วยความที่”ไม่รู้จักการทำธุรกิจ” ในเมืองไทยมีหลายธุรกิจครอบครัวที่ล้มพังทลายลงที่เจนเนอเรชั่นที่สอง แต่ก็มีหลายครอบครัวที่ผู้ฟื้นฟูและพัฒนาให้ก้าวหน้าคือคนรุ่นสองนี้ เช่น จิราธิวัฒน์, ล่ำซำ, ภิรมย์ภักดี เป็นต้น ครอบครัวจิราธิวัฒน์นั้นโดดเด่นในเรื่องการดูแลลูกหลานทางด้านการศึกษา, การมอบความรับผิดชอบและการจัดสรรผลประโยขน์อย่างยุติธรรมในหมู่ญาติพี่น้อง

ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณปริญญ์ จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 และเป็นบุตรชายของคุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ปัจจุบันคุณปริญญ์เป็นกรรมการบริหารการเงินของกลุ่มเซ็นทรัล พร้อมทั้งดูแลระบบการบริหารให้เป็นไปตามกฎของครอบครัว ซึ่งได้เล่าถึง “การจัดสรรมรดกธุรกิจ” และ “กฎของครอบครัว” ไว้อย่างน่าสนใจ ก็เลยเอามาสรุปต่อดังนี้.....


เมื่อคุณเตียง จิราธิวัฒน์ (ต้นตระกูล) เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน คุณสัมฤทธิ์ได้จัดการแบ่งมรดกของครอบครัวให้กับพี่น้องจำนวน 26 คนซึ่งเกิดจาก 3 แม่ได้อย่างลงตัว โดยสรุปหลักการได้ 3 ข้อดังนี้

1. คนที่ทำงานในธุรกิจของครอบครัวจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าคนที่ไม่ได้ทำ
2. พี่ได้มากกว่าน้อง ถ้าอายุเท่ากันก็ได้เท่ากัน
3. ชายได้มากกว่าหญิง ถ้าชายเหมือนกันได้เท่ากัน และหญิงเหมือนกันก็ได้เท่ากั

สำหรับในข้อที่สามนั้น คุณปริญญ์ได้อธิบายว่า “ครอบครัวจะผูกพันกับธุรกิจตลอดไป ผู้ชายได้จะมากกว่าหน่อย เนื่องจากผู้หญิงนั้นต่อไปก็จะแต่งงานมีสามี สามีเขาก็มีธุรกิจของเขาเอง ทำให้ผู้หญิงไม่ผูกพันกับธุรกิจครอบครัวเท่าผู้ชาย และหากให้หุ้นมากไป ในอนาคตอาจมีปัญหาได้”

Central World

กฎเหล็กในอดีตอีกประการหนึ่งก็คือ “ห้ามสมาชิกหรือทายาทในตระกูลออกไปทำธุรกิจที่เป็นคู่แข่งกับธุรกิจของครอบครัว” หากเกิดขึ้นทางครอบครัวก็จะใช้วิธีเข้าไปซื้อธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจของตระกูล และปรามสมาชิกคนนั้นว่าอย่าทำอีก แต่ปัจจุบันกฎข้อนี้ก็ดูจะคลายลง เพราะเครือเซ็นทรัลขยายออกไปใหญ่มาก ปัญหานี้ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทั้งนี้ก่อนที่สมาชิกคนใดจะออกไปทำธุรกิจอื่นจะต้อง
ผ่าน “คณะกรรมการ” หรือ “บอร์ดใหญ่ของครอบครัว” เสียก่อน โดยคณะกรรมการนี้ประกอบด้วยคน 9-12 คน และมาจาก 3 สาย คือ
1. ผู้อาวุโสของตระกูล 3 คน
2. ตัวแทนผู้ถือหุ้น (ขึ้นกับอัตราส่วนหุ้นของธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกถือ โดยใช้ “หนึ่งหุ้น = หนึ่งโหวท) จำนวน 6 คน
3. ผู้มีความสามารถนอกตระกูล (ผู้อาวุโสของตระกูลเป็นคนเลือก) จำนวน 3 คน

คณะกรรมการนี้ก็ไม่ใช่เสือกระดาษนะครับ เพราะคุณปริญญ์บอกว่าการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุดและมีอำนาจลงโทษได้จริงจังด้วย ก็จะสังเกตได้ว่าระเบียบการตั้งกรรมการหรือกฎต่างๆนั้น ล้วนอาศัยอาวุโสและความเคารพนับถือในหมู่ญาติพี่น้อง โดยให้ยึดถือ “ครอบครัว” เป็นหลัก

อ่านแล้วก็สนุกดีนะครับ เพราะการบริหารตระกูลใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 200 คนขนาดนี้ให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุขและธุรกิจครอบครัวก้าวหน้าได้ด้วยเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลย

ปล. บทสัมภาษณ์นี้มาจากวารสาร “การเงินการธนาคาร” ฉบับกันยายน 2012 ครับ สิ่งที่ผมนำมาสรุปเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ผมสนใจเท่านั้นเอง ของจริงยาวกว่ามากๆ ใครอยากอ่านต่อก็เชิญอุดหนุนเจ้าของบทสัมภาษณ์ (คุณนวพล วิริยะกุลกิจ) นะครับ :)

No comments:

Post a Comment