Saturday, October 20, 2012

3G จะมีไหม?

4 กันยายน 2012

"เหตุใดสยามประเทศจึงยังไม่มี 3G ใช้กันเสียที?"......พอดีมีไปอ่านเจอบทความที่เค้าเขียนอธิบายไว้ได้ละเอียดดีมากครับ ผมก็เลยเอามาสรุปและขยายความต่อ

แต่ก่อนแต่ไรเมืองไทยเรามีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องโทรคมนาคมอยู่ 2 ที่ คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) กับ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT) เป็นรัฐวิสาหกิจทั้งคู่

ทั้ง CAT และ TOT นั้นด้วยความที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็เลยเป็นเจ้าของ"คลื่นความถี่"ตามกฎหมาย หาสตางค์เข้ารัฐโดยเปิดสัมปทานคลื่นความถี่ให้บริษัทเอกชน
- CAT ทำสัมปทานกับ DTAC และ TrueMove
- TOT ทำสัมปทานกับ AIS

ภายหลังทั้ง CAT และ TOT ด้วยความเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วบริหารห่วย ชาวบ้านขอโทรศัพท์ทีก็รอเป็นปี ก็เลยแปรรูปมาเป็นบริษัทเอกชน (กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่) แต่ค่าต๋งที่ได้รับจาก AIS, DTAC และ TrueMove ก็ยังได้รับเป็นรายได้หลักอยู่ เพราะยังคงสิทธิเป็นเจ้าของความถี่อยู่เช่นเดิม

แต่ถึงแม้จะเป็นเอกชนแล้วก็ตาม ด้วยความที่ใช้ระบบสัมปทานก็ยังทำให้ CAT และ TOT เป็นเสือนอนกิน ไม่ได้ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แม้ว่า CAT จะมีแบรนด์ Hutch ส่วน TOT จะมีแบรนด์ Thai Mobile ออกมาสู้ในตลาด แต่ก็บริหารการตลาดสู้ 3 ค่ายหลักนั้นไม่ได้

เวลาก็หมุนไป.....จนเมืองไทยพบว่าระบบสัมปทานไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น เพราะยังไม่แข่งขันกันแบบมีประสิทธิภาพ ก็เลยเปลี่ยนแนวมาตั้ง "Regulator" แปลว่า "ผู้กำหนดกติกา" เพื่อให้กำหนดกติกาให้การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมเป็นไปอย่างเรียบร้อย......เป็นที่รู้จักกันในนาม กสทช. ในปัจจุบัน (เดิมมี กทช. และ กสช. แต่ตอนหลังมายุบรวมกัน)


กสทช.นี้มีความคิดก้าวหน้าในการเปิดประมูลเสรีคลื่น 3G โดยใช้ระบบ "ใบอนุญาต" แทนระบบ "สัมปทาน" .....ทำนองว่า"ล้างไพ่ระบบเดิมแล้วมาเริ่มเล่นกันใหม่นะพวกเรา!" บริษัทมือถือ 3 ค่ายยักษ์ก็เลยตั้งบริษัทลูกออกมาเตรียมประมูล คือ
- AIS (2G) ตั้ง Advance Wireless Network (3G)
- DTAC (2G) ตั้ง DTAC Internet Service (3G)
- TrueMove (2G) ตั้ง Real Move (3G)
ส่วน TOT และ CAT ไม่มาประมูลด้วย เพราะเป็นเจ้าของคลื่น 3G บางส่วนอยู่แล้วและก็เปิดบริการ 3G อยู่แล้ว คือ ThaiMobile และ Hutch CDMA (แต่ไม่ค่อยเวิร์ค)

ทีนี้พอ TOT และ CAT เห็นว่า กสทช.จะเปิดประมูลใบอนุญาต 3G แบบเสรีก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองก็จะมีรายได้ลดลงแถมมีคู่แข่งทำ 3G สู้ซึ่งจะมีแนวโน้มทำให้ราคาถูกลงด้วย พลอยจะทำให้คลื่นความถี่ 2G ของตัวเองที่เคยเป็นรายได้หลักจากสัมปทานก็จะหมดความนิยม เพราะคนจะแห่ไปใช้ 3G กันหมด


TOT กับ CAT ก็เลยฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองว่า "กติกาใหม่ทำให้รายได้ลดลง" เฉพาะ CAT ที่เดียวจะสูญรายได้ไปราวๆ 30,000 ล้านบาทหากระบบสัมปทานหายไป.....
ศาลก็เลยออกคำสั่ง "คุ้มครองชั่วคราว" แปลความง่ายๆก็คือ "ให้ทุกฝ่ายรอไปก่อนจนกว่าจะได้กติกาที่ทุกฝ่ายโอเค"

ปล.1 ไม่อยากให้มองว่า TOT และ CAT คือผู้ร้าย เพราะจริงๆแล้วทั้งสองบริษัทคือผู้ทำเงินจำนวนมหาศาลให้กับรัฐ ซึ่งเป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน...

ปล.2 ปัญหา 3G ทุกวันนี้เกิดจากการที่อยู่ดีๆ การจะฉีกระบบเดิมทิ้งง่ายๆ แล้วมาตั้งระบบใหม่แทน โดยที่ยังไม่ตกลงผลประโยชน์กันให้เรียบร้อย.....ทีนี้จะมีผลประโยชน์ซ่อนเร้นของใครอยู่บ้าง....ผมก็ไม่รู้ฮะ

ปล.3 ยาวไปหน่อย...ขอโต้ดคร้าบบบ

No comments:

Post a Comment