Thursday, July 10, 2014

รถยนต์ไฟฟ้า 100%

วันนี้นั่งรถอยู่แล้วเห็นรถคันนี้ครับ ชื่อยี่ห้อคือ "เทสลา (Tesla)" เป็นรถยนต์ยี่ห้อแรกและยี่ห้อเดียวบนโลกที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ไม่มีการใช้น้ำมันเลย (และไม่ใช่ไฮบริดเหมือนโตโยต้าพรีอุสด้วยนะ) ใช้การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ล้วนๆแล้วเอาไฟฟ้ามาขับเคลื่อนอีกที ก็เลยไม่มีการปล่อยไอเสียแม้แต่นิดเดียว


คนที่สนใจก็คงอยากรู้เช่นเดียวกันกับผมว่า แล้วชาร์จทีนึงมันจะวิ่งได้ไกลเท่าไร คำตอบก็คือ แบตเตอรี่ขนาด 80 กิโลวัตต์ชาร์จเต็มเนี่ยวิ่งได้เต็มที่ 480 กิโลเมตรครับ และอายุการใช้งานของแบตเตอรี่เขาคือ 8 ปี พอครบแปดปีแบตเสื่อมปุ๊บก็ซื้อเปลี่ยนได้ แถมมีให้ซื้อแบตสำรองได้ด้วย เช่นถ้ากะว่าจะวิ่งไปไกลๆ ก็สามารถแบกแบตสำรองแล้วไปถอดสวอปเปลี่ยนกลางทางได้เลย

ทีนี้การชาร์จแบตเพื่อใช้งานประจำวัน ก็ไม่จำเป็นต้องชาร์จเต็มทุกวันครับ เช่นถ้าเราใช้เฉลี่ยวันละ 100 กม. เราก็เสียบปลั๊กชาร์จกับปลั๊กที่บ้านแค่วันละ 2 ชั่วโมง ต้นทุนก็ตามค่าไฟน่ะครับ ราวๆ 80 บาทต่อวัน

ผู้ผลิตคือ บริษัทเทสลามอเตอร์ เขาแนะนำให้ใช้ไฟขนาด 240 โวลท์เพื่อชาร์จไฟครับเพราะให้กำลังชาร์จสูงกว่า ซึ่งก็ตรงกับขนาดไฟบ้านเราพอดี (เมกาเขาใช้ 110 โวลท์) เราซื้อรถมาปุ๊บเราก็แค่ซื้อระบบชาร์จไฟมาติดตั้งที่บ้าน ก็คือมีหัวสายเสียบกับปลั๊กที่บ้านแล้วก็สายไฟต่อมาเสียบกับแบตรถเราอีกที ถ้าขับไปถึงออฟฟิศก็สามารถเอาสายชาร์จเคลื่อนที่เสียบกับปลั๊กที่ออฟฟิศได้เลย (แต่อาจต้องมีโมดิฟายหัวปลั๊กหน่อย)

ในอเมริกาและยุโรปเขามีสถานีชาร์จไฟ หรือเรียกว่า "ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์" ไว้ให้รถไฟฟ้าแล้วราวๆ 120 สถานี ส่วนในเอเชียเรามีอยู่ 3 สถานีคือที่เซี่ยงไฮ้สองสถานีกับที่ปักกิ่งอีกหนึ่งสถานี และกำลังเปิดเพิ่มอีกเรื่อยๆ ความเจ๋งของสถานีนี้คือ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาชาร์จไฟให้น่ะเอง สมกับเป็นพลังงานสะอาดทั้งวงจรจริงๆ



ตอนนี้เทสลามอเตอร์เขาผลิตออกมารุ่นเดียวครับคือ Model S เป็นรถซีดาน มี 3 รุ่นให้เลือกตามกำลังแรงม้า เริ่มจาก 302 แรงม้า ขึ้นไปถึง 416 แรงม้า รับประกันแบตให้เลย 8 ปี

ราคาจัดอยู่ในระดับรถหรู คือ ราวๆ 2.2-2.8 ล้านบาท (ราคาในเมกาครับ) ซึ่งคุณภาพและการตกแต่งภายในก็ถือว่าหรูจริง ไม่ได้ป๊อกแป๊กเหมือนโตโยต้าพรีอุส และในปีหน้าก็จะออกรุ่นใหม่ออกมาอีกคือ Model X ซึ่งจะเป็นแบบ SUV แล้ว เห็นรูปแล้วงามงดมาก...

เอาเงินไปฝากใน กบข. คุ้มไหม?

เอาเงินไปฝากใน กบข. คุ้มไหม?  (ฉบับเขียนยาวหน่อยครับ เขียนสำหรับเพื่อนทหาร)

เมื่อวานนี้ได้ไปร่วมงานศพของคุณพ่อเพื่อนจปร.47 ท่านหนึ่งที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน   หลังจากที่เสร็จพิธีสวดแล้วก็ได้ยืนคุยกับเพื่อนๆตามประสาของเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานแล้ว  ซึ่งเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ  การหักเงินเดือนทหารเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆว่า “กบข.”  

ไอเดียการสร้าง กบข. ขึ้นมา ก็เพื่อเปลี่ยนการรับเงินบำนาญของข้าราชการเกษียณว่า  แทนที่จะให้รัฐเอางบประมาณของรัฐจ่ายเงินให้ข้าราชการเกษียณเหมือนปัจจุบัน  ก็ให้ใช้วิธีหักเงินเดือนของข้าราชการปัจจุบันมาเข้ากองทุน  แล้วพอเกษียณก็รับเงินที่ตัวเองหักฝากพร้อมดอกเบี้ยเอาไปใช้ในชีวิตบั้นปลายนั่นเอง  (ทำนองอัฐยายซื้อขนมยายน่ะแหละ)

และเพื่อนๆผมก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก กบข. เท่านั้น  เนื่องจากรัฐบาลบังค้บเสียแล้ว  เรื่องนี้เราก็คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

แต่คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวผมก็คือ  “ดอกเบี้ย” ที่เพื่อนๆของผมได้รับจากการบริหารกองทุนนี้มัน  
  1. คุ้มค่ากับที่เขาเอาเงินไปฝากไว้เกือบๆ 40 ปีหรือเปล่า?
  2. เพื่อนผมควรจะคาดหวังเอาผลตอบแทนจาก กบข. นี้เป็นเงินใช้จ่ายหลักหลังเกษียณหรือเปล่า?
ผมก็เลยเปิดเข้าไปในเว็บของ กบข.  แล้วก็พบว่ากองทุนนี้เขาตั้งมาตั้งแต่ปี 2540  นับถึงปัจจุบันก็ 16 ปีเศษๆ  ข้อมูลที่ผมจับมาใช้ประโยชน์ได้ก็มีอยู่ 3 อย่างครับ คือ
  1. กองทุนมีขนาด  4.5 แสนล้านบาท
  2. การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ใน “ตราสารหนี้”
  3. อัตรากำไรเฉลี่ย 16 ปี คือ 7.5%
เอาข้อแรกก่อนก็แล้วกัน  คือ  ขนาดกองทุน 4.5 แสนล้านบาท  ซึ่งเทียบได้กับกองทุนขนาดยักษ์ใหญ่อลังการดาวล้านดวงมากเมื่อผมเอาไปเทียบกับกองทุน LTF และ RMF ของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งอันนั้นเขามีขนาดกองทุนเฉลี่ย 2 - 3.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น   ส่วน LTF ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1 - 2 หมื่นล้านเท่านั้น  ยิ่งถ้าเป็น RMF ของกรุงศรีนั้นขนาดราวๆหลักพันล้านเลยด้วยซ้ำ

เหตุผลที่ผมเอาไปเปรียบเทียบกับ LTF และ RMF ก็เพราะว่าเป็นกองทุนระยะยาวเหมือนกันครับ

โอเค….ข้อแรกเป็นอันรู้กันว่า  กบข.นั้นเป็นกองทุนที่ขนาดใหญ่แทบจะที่สุดในตลาดกองทุนเมืองไทยเลย  จะขยับไปซื้ออะไรทีนึงก็ทำให้ตลาดสะเทือนได้เลยนะ  แล้วทีนี้เขาเอาเงินเพื่อนผมไปทำอะไรบ้างล่ะ?

ต่อมาข้อที่สองคือ  กบข.เขาเอาเงินไปลงทุนใน”ตราสารหนี้”

สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่า ตราสารหนี้ คืออะไร  ผมก็สรุปสั้นๆได้เพียงว่า  เวลาที่บริษัทไหนเขาจะระดมทุนไปทำอะไรสักอย่าง  เขาจะออกตราสารหนี้ออกมาเพื่อขอยืมเงินเราไปใช้  จะห้าปี สิบปีอะไรก็ว่าไป  แล้วกำหนดดอกเบี้ยให้เลยว่าพอครบอายุถอนคืน  เราจะได้เงินต้นคืนพร้อมกับดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์



ถามว่าปลอดภัยไหม....คำตอบคือปลอดภัยมากกก  เงินต้นของเราไม่หายแน่ถ้าซื้อตราสารหนี้  แต่ผลตอบแทนก็จะต่ำมากเช่นเดียวกัน คือ  ดอกเบี้ยราว 4-5% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งมักจะหนีเงินเฟ้อไม่ค่อยได้  แต่ก็ยังดีกว่าเอาไปฝากออมทรัพย์ซึ่งดอกเบี้ยต่ำเตี้ยน่าเวทนามาก

การลงทุนในโลกนี้ก็มีหลายแบบครับ  เช่น หุ้น, อสังหาริมทรัพย์, ตราสารหนี้, ทอง, น้ำมัน, ฝากแบงก์, ปล่อยกู้, เล่นหวย,​โต๊ะแชร์ ฯลฯ  เสี่ยงมากก็กำไรมาก  เสี่ยงน้อยก็กำไรน้อย

ต่อมาข้อที่สามคือ  อัตรากำไรเฉลี่ย 16 ปี คือ 7.5%

ก็อย่างว่าละครับ  เขาเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนหลักในตราสารหนี้ซึ่งเน้นความปลอดภัย  อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 7.5% ต่อปีนี่  ผมถือว่าน้อยมากๆเลยนะ

ทีนี้สมมติว่า  ถ้า กบข.เอาเงินไปลงทุนในหุ้นล่ะ  ผลตอบแทนจะเป็นเท่าไร?  ผมก็เลยเข้าไปดูในผลประกอบการ  5 ปีย้อนหลังของกองทุน LTF และ RMF 10 อันดับแรกในตลาดกองทุนไทย  ก็พบว่า  ในบรรดากองทุนที่เอาไปลงทุนในหุ้นนั้น  ผลกำไรสะสมย้อนหลัง 5 ปีคือ 180%  คิดง่ายๆคือ  ถ้าปีแรกเอาเงินใส่เข้าไป 10,000 บาทก้อนเดียว  พอปีที่ห้าเงินจะงอกขึ้นเป็น 28,000 บาท

แต่ถ้าเป็น กบข. ผมใส่เงินเข้าไป 10,000 บาทก้อนเดียว  พอปีที่ห้าผมจะมีเงินงอกขึ้นเป็น 16,289 บาทเท่านั้น  (คิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี)

กำไรเฉลี่ยของ กบข.ต่อปีคือ 7.5% ครับ ส่วนกองทุน LTF หรือ RMF สิบอันดับแรกคือ ประมาณ 15-20% ต่อปี

ผมก็คงไม่วิจารณ์ว่านโยบายการลงทุนของ กบข. เขาทำกำไรดีหรือห่วย  เพราะบางทีอาจมองต่างมุมว่า  “กบข.ต้องเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก”  ก็เป็นได้นะ  (ซึ่งก็จริงของเขา)

เขียนมาถึงตอนนี้  ผมก็พอจะตอบคำถามที่ตั้งไว้ตอนแรก 2 ข้อได้ดังนี้

1. คุ้มค่ากับที่เขาเอาเงินไปฝากไว้เกือบๆ 40 ปีหรือเปล่า?

อันนี้ผมตอบได้เลยว่าไม่คุ้มค่า  เพราะด้วยอัตราผลประกอบการที่เน้นความปลอดภัยแบบนี้  ผมมองว่าเป็นการเอาเงินเพื่อนๆผมไปกองไว้เสียเวลาเปล่าๆ  กบข.น่าที่จะทดลองเปลี่ยนนโยบายแบ่งเอาเงินบางส่วนไปลงทุนในหุ้น หรือ ไปซื้อกองทุนที่เขาลงทุนในหุ้นบ้าง  อัตราผลกำไรจะได้ดีกว่านี้

2. เพื่อนผมควรจะยึดถือเอาผลตอบแทนจาก กบข. นี้เป็นเงินใช้จ่ายหลักหลังเกษียณหรือเปล่า?

คำตอบ คือ “ไม่”  เพื่อนผมควรจะถือเอาเงินก้อนนี้เป็นเงินสำรองชีวิตเท่านั้น  เพราะผมลองคำนวณว่า  ถ้าเพื่อนผมๆหักฝากเดือนละ 3% (ซึ่ง 3% ขั้นต่ำของการหักฝากกบข. สูงสุดคือ 15%)  โดยผมสมมติว่าเงินเดือนเฉลี่ยของเพื่อนผมจนเกษียณคือ 50,000 บาท ก็คือเดือนละราวๆ 1,500 บาท  ฝาก 35 ปี  ดอกเบี้ยปีละ 7.5% แล้ว

พอเพื่อนผมเกษียณ  เขาจะได้รับเงินจากกองทุนนี้ คือ 2.9 ล้านบาท  (เงินต้น 630,000 บาท + กำไร 2,270,000 บาท)  เมื่อมาคิดหักจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว  ก็ไม่ได้เยอะมาก

แต่ถ้าเพื่อนผมเปลี่ยนเป็นหักฝากเดือนละ 10% ก็คือเดือนละราวๆ 5,000 บาท  เป็นเวลา 35 ปี ก็จะได้เงินหลังเกษียณคือ ประมาณ 9.7 ล้านบาท (เงินต้น 2.1 ล้าน + กำไร 7.6 ล้าน)

สรุปจบสุดท้ายคือ  “เพื่อนผมควรจะทำอย่างไร?”  คำตอบก็มีสองแนวทางครับ คือ
  1. เพิ่มจำนวนเงินหักฝากต่อเดือนให้เต็มที่  อย่างน้อยๆคือ เดือนละห้าพันบาทขึ้นไป  สุดท้ายเราจะได้เงินวันเกษียณเกือบๆสิบล้านบาท (แต่ถ้าแก่แล้วอย่างรุ่นผม  ก็ให้มากกว่าห้าพันเยอะๆหน่อยก็ดี)
  2. ฝากกบข.ด้วยเงินขั้นต่ำต่อไป คือ 3%  แต่ไปเปิดบัญชีกองทุนรวม LTF หรือ RMF แล้วฝากเงินสะสมไปเรื่อยๆทุกเดือน  ซึ่งผลกำไรเฉลี่ยของกองทุน 10 อันดับแรก คือ 15-20% ต่อปี  ซึ่งผลกำไรดีกว่า กบข.มากมายนัก
สำหรับข้าราชการแล้ว  ผมไม่แนะนำให้เล่นหุ้น  แต่ให้ซื้อกองทุนดีกว่าครับ  เพราะเขามีมืออาชีพมาบริหารให้เราได้กำไรกว่าเยอะ  สำหรับกองทุน LTF และ RMF ที่ผมแนะนำก็มีของ  ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, บริษัทหลักทรัพย์อเบอร์ดีน, ธนาคารยูโอบี เป็นต้น

ใครอยากทดลองดูว่า  ถ้าเราฝากเงินเท่านี้ๆต่อเดือน  เป็นเวลาเท่านี้ๆ  ด้วยผลกำไรเท่านี้ต่อปี  พอเวลาผ่านไปจะได้รับเงินเท่าไรก็ลองดูที่ลิงก์ข้างล่างนี้นะครับ  ธนาคารทหารไทยเขาทำไว้ดีมากเลย

https://www.mytmb.com/calculator/