Saturday, April 23, 2016

พระตำหนักดอยตุง

คือพอดีว่าผมยังอินกับทริปที่ไปเที่ยวเชียงราย แล้วมีโอกาสไปชมพระตำหนักดอยตุง ได้เดินเข้าไปดูภายใน ได้เห็น "บ้านที่ดอยตุง" ของสมเด็จย่า ความประทับใจที่ผมมีก็คือ พระตำหนักแห่งนี้ "เรียบง่ายมากๆ"

ผมก็เลยกลับมาค้นคว้าจากหนังสือที่บ้านต่อ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับพระตำหนักแห่งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เอามาเล่าสู่กันฟังครับ

ใครที่คิดว่า "พระตำหนัก" จะต้องหรูหราอลังการ ถ้าได้มาชมพระตำหนักดอยตุงจะเปลี่ยนความคิดไปเลยครับ

แรกเริ่มเดิมที ดอยตุงเป็นเทือกเขาหัวโล้นครับ ไม่ได้เขียวชอุ่มงดงามอย่างทุกวันนี้ เป็นดินสีแดงเกือบทั้งหมด ชาวเขาเผ่าอีก้อและมูเซอมาปลูกข้าวโพด มัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นฝิ่น แถมยังมีการทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้สุมไฟเฝาป่าจนกลายเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเต็มขั้น 

แถมยังเป็นพื้นที่อันตรายเพราะอยู่ใกล้ๆกับสามเหลี่ยมทองคำ ตรงรอยต่อระหว่างไทย-พม่าและลาว แล้วก็ยังเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดอีกต่างหาก อันตรายต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้มากๆ

เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ในยุคนั้นก็จนปัญญา ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงมาติดต่อกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงให้มาช่วย ความทราบถึงสมเด็จย่า ท่านก็เสด็จมาดูพื้นที่ตรงนี้แล้วก็ตรัสว่า "ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง"

ในตอนแรกฝ่ายทหารคัดค้านเต็มที่เพราะยังเป็นพื้นที่อันตราย คอมมิวนิสท์ก็เยอะ ชนกลุ่มน้อยต่อต้านพม่าก็อยู่ไม่ไกล แต่สมเด็จย่าก็ยืนยันที่จะปลูกป่าที่นี่และทรงตั้ง "โครงการพัฒนาดอยตุง" ขึ้นเพื่อจะช่วยเหลือชาวเขาและปลูกป่าให้งามให้ได้

พอตั้งโครงการพัฒนาขึ้นมาแล้ว สมเด็จย่าก็ทรงตั้งใจจะมาประทับที่นี่เพื่อดูแลงานและพักผ่อน เนื่องจากอากาศที่นี่ดี เย็นสบายและสะอาด ดีต่อพระพลานามัย พระองค์จึงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระตำหนักดอยตุงขึ้น

ตอนแรกมีคนกราบบังคมทูลถามท่านว่า "จะสร้างแบบบ้านไม้บนเขาของสวิตเซอร์แลนด์หรือไม่" พระองค์รับสั่งว่า "แพง ไม่มีสตางค์"

คนที่เป็นสถาปนิกออกแบบพระตำหนักก็คือ สถาปนิกของกรมชลประทานครับ และสมเด็จย่าก็ทรงเอาใจใส่ช่วยออกแบบด้วยพระองค์เองด้วย ขณะเสด็จบนเฮลิคอปเตอร์ก็ทรงเขียนบนซองจดหมายด้วยดินสอแดง บอกมาว่า "อย่าลืมในห้องนอนต้องมีตู้ใส่ไม้กวาด"

พระตำหนักเริ่มสร้างช่วงสิ้นปี 2530 มีการลงเสาเอกแบบล้านนา เรียกว่า "พิธีปกเสาเฮือน" สร้างอยู่ 11 เดือนจึงเรียบร้อย

พระตำหนักดอยตุงมีสองชั้นครับ ออกแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างบ้านล้านนากับบ้านปีกไม้ของสวิส มีกาแล พื้นใช้ไม้สักทอง ส่วนภายในใช้ไม้สนบุผนัง (ได้มาจากไม้ลังใส่ของ ซื้อจากท่าเรือคลองเตย)

ยามที่สมเด็จย่าว่างจากการเยี่ยมประชาชน ท่านก็จะทรงงานเพาะกล้าไม้ด้วยพระองค์เอง กล้าไม้เหล่านี้ภายหลังถูกนำมาใช้ปลูกป่า 9,900 ไร่ที่ดอยตุง ซึ่งโครงการก็ได้จ้างชาวเขาให้เลิกปลูกฝิ่น หันมาปลูกป่าแทน แถมยังจ้างให้ช่วยดูแลป่า ดูแลต้นไม้อีกด้วย
ต่อมาก็ทรงนำพืชเมืองหนาว เช่น แมคคาเดเมีย เกาลัด กาแฟ มาให้ชาวบ้านปลูก บริษัท เนสท์เล่ ก็มาช่วยตั้งโครงการด้วย ตอนนี้โครงการเจริญงอกงามไปถึงขั้นปลูกข้าวญี่ปุ่น ไม้ดอก กล้วยไม้ เห็ดหอม เห็ดชอมปิญอง

สมเด็จย่าเสด็จมาประทับที่นี่อยู่สม่ำเสมอเรื่อยมาจนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 2538 เราคงได้เห็นกันแล้วนะครับว่า จากเวลาเพียง 8 ปี....ท่านทรงพัฒนาดอยตุงจากป่าเสื่อมโทรม ให้กลายเป็นป่าสมบูรณ์ ชาวเขามีอาชีพ ดอยตุงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

สมเด็จย่าทรงเรียกพระตำหนักดอยตุงว่า "บ้านที่ดอยตุง" ครับ ใครที่ยังไม่ได้ไป....ผมแนะนำให้ไปชม "บ้านสมเด็จย่า" สักครั้งครับ แล้วเราจะเข้าใจคำว่า "พอเพียง" ได้โดยไม่ต้องบรรยายใดๆอีก


(เนื้อหาบางส่วนผมคัดมาจากหนังสือ "พระมามลายโศกหล้า เหลือสุข" เล่มสองครับ)

No comments:

Post a Comment