Saturday, April 23, 2016

โครงการเติร์กสตรีม

ถ้าใครติดตามข่าวโลก คงจะได้เห็นแล้วว่าเมื่อวานนี้ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน สั่งให้รัฐบาลรัสเซียออกมาตรการเล่นงานทางเศรษฐกิจต่อตุรกี

อันมีเหตุมาจากที่เครื่องบินรบ F16 ของตุรกียิงเครื่องบินรบ Su-24 ของรัสเซียร่วงไปเมื่ออาทิตย์ก่อน แถมนักบินรัสเซียยังถูกกองกำลังตุรกียิงเสียชีวิตคาร่มชูชีพอีกต่างหาก

เมื่อตุรกีไม่ยอมขอโทษรัสเซีย มาตรการจากรัสเซียที่ตามมาก็เยอะแยะ เช่น จำกัดการทำงานของบริษัทตุรกีในรัสเซีย ห้ามคนรัสเซียไปเที่ยวตุรกี (รวมทั้งห้ามขายทัวร์ด้วย) ไม่ออกวีซ่าให้คนตุรกีเข้ารัสเซีย ฯลฯ

คนที่เดือดร้อนดูจะเป็นตุรกี เพราะรัสเซียคือคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของตุรกี แถมทุกวันนี้มีชาวตุรกีราวๆ 9 แสนคนทำงานอยู่ในรัสเซียอีกต่างหาก (รวมพี่น้องลูกเมียแล้วก็คงราวๆ 2 ล้านคน)

หนึ่งในมาตรการที่น่าสนใจคือ "ชะลอโครงการเติร์กสตรีม" ครับ

ก่อนที่จะเล่าว่าโครงการเติร์กสตรีมนี้คืออะไร ขอเล่าก่อนว่าทุกวันนี้ยุโรปแทบจะทั้งทวีปเป็นลูกค้าคอยซื้อก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซีย ซึ่งการนำก๊าซเข้าสู่ทวีปยุโรปก็ใช้ "ท่อก๊าซ" วิ่งเป็นพันๆกิโลเมตร มีทั้งบนดินและใต้น้ำ

ประเทศที่ทำหน้าที่เป็นสี่แยกท่อก๊าซให้รัสเซียก็มีอยู่สามชาติหลักๆคือ เบลารุส, ยูเครนและตุรกี

"เติร์กสตรีม" เป็นโครงการล่าสุดที่รัสเซียเพิ่งตกลงกับตุรกีเมื่อธันวาคมปีก่อน เพื่อจะเอาท่อก๊าซจากชายฝั่งรัสเซีย ....มุดลงใต้ทะเลดำ ....วิ่งใต้น้ำไป 900 กิโลเมตร ...แล้วมาโผล่เอาที่ชายฝั่งตุรกี แล้วก็จะกระจายท่อก๊าซไปขายต่อยังกรีซ, บัลกาเรีย, อิตาลี และหลายๆชาติละแวกนั้น

งานนี้ตุรกีได้ประโยชน์เต็มๆคือ ได้ทั้งเงินค่าผ่านทาง เศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นพันๆหมื่นๆล้าน แถมยังได้โอกาสเอาก๊าซธรรมชาติมาใช้ในประเทศอีก 20% (ซื้อนะ ไม่ใช่ฟรี) อีก 80% ก็ส่งต่อไปให้ยุโรปชาติอื่น

แต่ถามว่ารัสเซียรีบร้อนกับ "เติร์กสตรีม" ไหม? คำตอบคือ "ยังไม่เท่าไร" เพราะโครงการนี้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการก๊าซในอนาคตของยุโรปในปี 2030โน่น

แถมทุกวันนี้รัสเซียก็มีท่อก๊าซนอร์ดสตรีม, เซาท์สตรีม, บลูสตรีม และท่อบนดินที่ส่งก๊าซเข้ายุโรปได้สบายๆอยู่แล้ว คนที่โหยหาเติร์กสตรีมน่าจะเป็นตุรกีเสียมากกว่า

การชะลอเติร์กสตรีม น่าจะเป็นหนามทิ่มแทงปธน.ตุรกีมากกว่ามาตรการอย่างอื่นของรัสเซีย และคงเป็นบทเรียนสอนใจตุรกีได้เป็นอย่างดี เพราะโลกทุกวันนี้เศรษฐกิจมันพัวพันกันทุกชาติไป

No comments:

Post a Comment