Saturday, April 23, 2016

การฝึกงานแบบเยอรมัน



พอดีได้นอนอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "จงหางานที่มีแต่คุณเท่านั้นที่ทำได้" คนเขียนเป็นคนเกาหลีครับ ชื่อ "คิม รัน โด" ตอนแรกกะว่าจะอ่านเพลินๆ แต่ไปๆมาๆก็วางไม่ลงซะงั้น

มีบทหนึ่งคนเขียนเขาเล่าถึงการเรียนสายอาชีพของเยอรมัน ซึ่งเอาจริงเอาจังกันมากๆ เพราะการศึกษาเยอรมันนั้นให้ความสำคัญกับสายอาชีพมากกว่าสายสามัญเยอะทีเดียว

ที่แฟรงเฟิร์ตนั้นทุกๆเดือนจะมีงานที่เรียกว่า Azubi ครับเป็นมหกรรมหางานสำหรับนักศึกษาที่ใหญ่มากๆ มีบริษัทมาร่วมประมาณ 80 บริษัท บรรยากาศคึกคักมากๆเพราะวัยรุ่นเยอรมันเขาจะมาหาสถานที่ฝึกอาชีพกัน

หนุ่มสาวเยอรมันนั้นมักจะเริ่มฝึกงานกันในบริษัทตั้งแต่อายุ 15-19 ปี แล้วก็ฝึกงาน(แบบมีเงินเดือนนะ) เป็นเวลา 3 ปี จนกระทั่งบริษัทรับเข้าเป็นพนักงานแล้วก็อยู่ยาวกับบริษัทนั้นยาวเป็น 30-40 ปีจนเกษียณไปเลย 

ทำให้ผมนึกถึงสารคดีของ BBC ที่มาเล่าถึงชีวิตพนักงาน Faber-Castel ผู้ผลิตดินสอเก่าแก่ของเยอรมัน ซึ่งพนักงานก็มักจะอยู่ที่นี่ยาวตลอดชีวิตเช่นกัน และเมื่อพิธีกรสอบถามเจ้าของกิจการว่า คิดจะขยายธุรกิจไปทำอย่างอื่นอีกไหม เขาตอบแต่เพียงว่า "เราเชี่ยวชาญในเรื่องการทำดินสอ"


ที่ฝึกงานกันนานขนาดนั้นเพราะเยอรมันให้คุณค่ากับความเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" และเป็นการประกันคุณภาพแรงงาน (เพราะฝึกเขาเองกับมือ) ก่อนที่จะมาเริ่มงาน ซึ่งการฝึกงานนั้นเป็นการลงมือฝึกอาชีพอย่างจริงจังเลยเชียว

บริษัทดังๆที่มีนโยบายแบบนี้ก็เช่น Karcher (ผลิตเครื่องดูดฝุ่นสูญญากาศ) ที่เริ่มโปรเจคท์ฝึกงานมาตั้งแต่ปี 1977 พนักงานที่นี่มีอายุงานเฉลี่ย 30-40 ปี หรือ สายการบินลุฟท์ฮันซ่า ที่รับเด็กฝึกงานราวๆ 800 คน

โปรแกรมการฝึกงานของลุฟท์ฮันซ่านั้นยาวนาน...."42 เดือน" ครับ มีทั้งเรียนภาคทฤษฎีและภาคลงมือทำงานกับช่างเทคนิคตัวจริง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนฝึกงานเลยละ ซึ่งระหว่างฝึกงานนี้ลุฟท์ฮันซ่าก็จ่ายเงินเดือนให้ด้วย เพราะถือว่าเป็นการลงทุนของบริษัทเพื่อให้ได้แรงงานที่มีฝึมือ

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงญี่ปุ่นขึ้นมา เพราะทั้งสองชาตินี้คล้ายกันตรงที่ว่า พนักงานมักจะจงรักภักดีต่อองค์กรมากๆ เข้าทำงานที่ไหนก็จะอยู่ยาวจนเกษียณ เวลาทำงานก็จะจริงจังมากๆไม่มีมาก๊องแก๊งเฟซบุ๊คไลน์แชท และทั้งสองชาตินี้ก็ก่อสงครามโลกได้เหมือนกัน เมื่อพ่ายแพ้....ก็ฟื้นตัวได้รวดเร็วกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกได้อีกตะหาก

ผู้เขียนชาวเกาหลีเขาออกแนวบ่นๆนิดในหนังสือว่า วัยรุ่นชาวเกาหลีมีแนวคิดว่า "การฝึกงานได้เงินเดือนน้อยๆนั้น ถือเป็นความไม่ก้าวหน้าของคนเกาหลี" ฟังดูคล้ายๆกับวัยรุ่นไทยเหมือนกันแฮะ


อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีคิดแบบนี้ของคนเยอรมันนั้น ทำให้อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเยอรมันอยู่ที่ 7% ในขณะที่คนหนุ่มสาวชาติยุโรปอื่นๆอยู่ที่ 24% ส่วนวัยรุ่นเกาหลีว่างงานราว 3 แสนคนครับ ส่วนของบ้านเราผมยังไม่ได้หาข้อมูลครับ

1 comment: