Saturday, April 23, 2016

วงการเฮลิคอปเตอร์



วันนี้อยากจะขอเล่าสู่กันฟังเรื่องที่เกี่ยวกับวงการเฮลิคอปเตอร์ของผมบ้างครับ เพื่อนๆจะได้รู้ว่าธุรกิจนี้เขามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หลังจากที่เขียนเรื่องอื่นๆมานานนมอยู่

จริงๆแล้วธุรกิจเฮลิคอปเตอร์นี้จะเรียกว่าเป็น niche market หรือ "ตลาดเฉพาะกลุ่ม" ก็ว่าได้ เพราะลูกค้าเฮลิคอปเตอร์ในเมืองไทยมีค่อนข้างจำกัด เช่น บริษัทน้ำมัน, วีไอพี และ รับ-ส่งผู้ป่วย แต่ในต่างประเทศเขามีลูกค้าหลากหลายมาก เช่น ขนซุง, กู้ภัย, ตรวจสายไฟ, ส่งนักสกี, ฮอส่วนตัว ฯลฯ....เฟื่องฟูสุดๆ
แถมถ้าเทียบกับเครื่องบินแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาเฮลิคอปเตอร์นั้นสูงกว่าเยอะ เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวเยอะมาก แถมอะไหล่แต่ละชิ้นก็มีอายุการใช้งานจำกัด จอดไว้เฉยๆก็มีค่าใช้จ่ายแล้ว นักบินก็ค่าตัวสูง (เรื่องมากอีกตะหาก)

บริษัทหรือนักลงทุนที่จะทำธุรกิจนี้จึงต้องมีสายป่านยาวพอสมควรครับ

ในโลกใบนี้นั้น มีผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์รายใหญ่ๆอยู่ 4 แห่งครับ คือ 

- แอร์บัส (อดีตยูโรคอปเตอร์)
- ฟินเมคานิการ์ (ยี่ห้อ AgustaWesland)
- ยูไนเต็ดเทคโนโลยี (ยี่ห้อ Sikorsky ที่ผมบินอยู่)
- เท็กซ์ทรอน (ยี่ห้อเบลล์)

เป็นที่รู้กันว่าในวงการเฮลิคอปเตอร์นั้น ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดคือ "บริษัทน้ำมัน" ซึ่งต้องการเฮลิคอปเตอร์รับ-ส่งพนักงานแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลเป็นจำนวนมาก และต้องการเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง เซฟตี้สูง ....พูดง่ายๆคือ "ไม่ตกง่ายๆ" หรือ "ตกแล้วไม่ตาย ว่ายน้ำหนีออกมาได้" ประมาณนั้น

การที่บริษัทน้ำมันต้องการเฮลิคอปเตอร์คุณภาพสูงนี้ ก็ทำให้บรรดาผู้ผลิตทั้งหลายแข่งกันเร่งคิดค้นและสร้างเฮลิคอปเตอร์ที่ว่าออกมา แต่ก็ทำให้ราคา "สูงมาก" ทำให้บรรดาบริษัทสายการบินทั้งหลายไม่ค่อยนิยมซื้อมาเก็บไว้เฉยๆ มักจะรอให้ประมูลได้งานจากลูกค้าก่อนจึงค่อยไปหาเฮลิคอปเตอร์มาบริการ
วิธียอดนิยมที่ใช้กันก็คือเช่า (Lease)” ครับ ซึ่งช่วยให้นักธุรกิจเจ้าของสายการบินนั้นลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ เพราะเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งก็ราคาราวๆ 400-500 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และบริษัทหนึ่งก็มักจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ไม่ต่ำกว่า 4-5 ลำ การเช่าทำให้ช่วยลดความเสี่ยงไปได้หลายทีเดียว

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดมีธุรกิจเฮลิคอปเตอร์ลีสซิ่งขึ้นมาครับ เป็นธุรกิจใหม่เอี่ยมที่เพิ่งจะมีขึ้นในปี 2010 นี้นี่เอง ซึ่งบริษัทลีสซิ่งเหล่านี้ก็เกิดจากการร่วมทุนของบรรดานักลงทุนมหาเศรษฐีทั้งหลาย เช่น บริษัทไมล์สโตน เอวิเอชั่น กรุ๊ป (Milestone Aviation Group), บริษัท แอลซีไอ (LCI: Lease Corporation International), ไลบรากรุ๊ป (Libra Group), เวย์พอยท์ ลีสซิ่ง (Waypoint Leasing)

พวกบริษัทลีสซิ่งนี้ก็จะใช้วิธีไปติดต่อผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ล่วงหน้าว่าฉันจะจองเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ 10 ลำนะแล้วผู้ผลิตก็จะสร้างขึ้นมาตามสั่ง ซึ่งบางครั้งลีสซิ่งบางแห่งที่เงินหนามากๆก็จะตัดคู่แข่งโดยจองทั้งไลน์การผลิตเป็นปีๆเลย เพื่อไม่ให้ลีสซิ่งคู่แข่งหรือสายการบินได้ไป 

พอได้เฮลิคอปเตอร์มาก็จัดการปล่อยเช่าทำกำไรอีกต่อหนึ่ง ซึ่งธุรกิจที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ก็ต้องออกแนวๆกลั้นใจมาเช่า เพราะต้องใช้ (นี่หว่า) แถมไม่มีทุนหนาเท่าเขา

วิธีนี้นั้นมีเสียงสะท้อนจากสายการบินทั้งหลายว่าเป็นการทำให้อุตสาหกรรมเฮลิคอปเตอร์เข้าสู่ยุค flooding the market หรือ over production เพราะเฮลิคอปเตอร์ไปอยู่ในมือคนที่ไม่ได้เอาไปใช้จริงเป็นจำนวนเยอะๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะผู้ผลิตเขาก็ต้องการเงิน ใครสั่งใครจ่าย...ก็ได้ไป

ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม ธุรกิจลีสซิ่งเฮลิคอปเตอร์นั้นตอนนี้เฟื่องฟูมากๆ เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ บริษัท จีอีแคปปิตอล เพิ่งเจรจาขอซื้อกิจการของบริษัทไมล์สโตน เอวิเอชั่นไปด้วยมูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คูณสามสิบเป็นเงินบาทกันเอาเองนะครับ) เพราะเห็นว่ากำไรดีเหลือเกิน

ด้วยการอัดเทคโนโลยีเข้ามาแบบจัดเต็มนี้ เชื่อว่า ราคาเฉลี่ยในอนาคตของเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้อุตสาหกรรมน้ำมันจะอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญต่อลำ หรือ ราวๆ 750 ล้านบาทครับ

การซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้กลุ่มจีอีเปิดโลกตัวเอง มาเข้าสู่ธุรกิจเฮลิคอปเตอร์ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่ง ตอนนี้ทั่วโลกมีเฮลิคอปเตอร์บินให้แท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ราวๆ 2,000 ลำครับ

เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้ำมันในโลกเรานั้น....ขุดได้อีกเป็น 50-60 ปีครับ ตราบใดที่เขายังไม่สร้างรันเวย์กลางทะเล.....เฮลิคอปเตอร์ก็ยังเป็นทางเลือกเดียวในการเดินทางไปแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ดี (ยกเว้นว่าอยากจะนั่งเรือน่ะนะ)

No comments:

Post a Comment