Saturday, May 4, 2013

วอร์เรน บัฟเฟทกับธุรกิจการบิน


เชื่อว่าใครที่เล่นหุ้นคงรู้จักวอร์เรน บัฟเฟทปรมาจารย์ด้านการลงทุนแน่นอนนะฮะ  และก็คงทราบดีว่าบัฟเฟทนั้นเป็นซีอีโอของบริษัท เบิร์กไชร์ แฮททาเวย์ และด้วยความสามารถอันเอกอุในการวิเคราะห์ความสามารถของบริษัทต่างๆ ทำให้คุณบัฟเฟทเป็นมหาเศรษฐีลำดับต้นๆของโลกด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นและซื้อบริษัทที่ผลประกอบการดีๆมาไว้มากมาย ที่เรารู้จักก็เช่น Dairy Queen, ไอบีเอ็ม, ไฮนซ์(ซอสมะเขือเทศน่ะแหละ) ฯลฯ  จนกลายเป็นมหาเศรษฐีคนเดียวที่รวยจากการ "เล่นหุ้น"

ปรมาจารย์ด้านการลงทุน "วอร์เรน บัฟเฟท"


ผมจะไม่พูดถึงประวัติคุณบัฟเฟทละกัน เพราะมีหนังสือมากมายในตลาดอยู่แล้ว ใครอยากรู้ก็ไปซื้อมาอ่านเอาเองละกัน  วันนี้ผมจะพูดถึงคุณบัฟเฟทกับธุรกิจการบินครับ  โดยหนึ่งในบริษัทที่คุณบัฟเฟทไปซื้อมาก็คือ  FlightSafety International ครับ (ซื้อทั้งบริษัทเลย) อันเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ทำธุรกิจ"เทรนนิ่ง" ทั้งนักบิน, ช่าง, dispatcher, ลูกเรือ และบุคลากรทุกชนิดในวงการการบินครับ  โดยเฉพาะนักบินก็จะต้องเข้ามาฝึกบินในซิมูเลเตอร์ที่ FlightSafety นี่เองปีละครั้งสองครั้งทุกคนไป

FlightSafety International

บริษัทผมก็ส่งนักบินไปเทรนในซิมูเลเตอร์ที่นี่มาหลายปีครับก่อนจะเปลี่ยนไปเทรนที่อื่นในช่วงสองปีหลัง โดยคุณบัฟเฟทก็ซื้อที่นี่มาเมื่อปี 1996 ด้วยราคา 1.5 พันล้านเหรียญแล้วก็ควบรวมมาเข้ากับบริษัทเบิร์กไชร์ แฮททาเวย์ของเขา  การที่คุณบัฟเฟทเข้ามาร่วมวงในธุรกิจการบินก็ทำให้ธุรกิจนี้ดีขึ้น (คงเพราะด้วยชื่อเสียงของลุงแก) บรรดาบริษัทผลิตเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ต่างก็มาให้ FlightSafety จัดการเทรนนิ่งให้ เช่น บอมบาร์เดียร์ และ กัลฟ์สตรีม  ส่วนเฮลิคอปเตอร์ก็มี Sikorsky แล้วก็ Augusta Westland เป็นต้น

ก่อนหน้านี้คุณบัฟเฟทก็ซื้อบริษัทชื่อ NetJets ที่เป็นสายการบินเช่าเหมาลำมาครับ (หลังจากใช้บริการเองอยู่สามปีก็ซื้อมาเป็นของตัวเองเสียเลย) แล้วก็เอาทั้ง NetJets และ FlightSafety มารวมเป็นส่วนหนึ่งของเบิร์กไชร์ แฮททาเวย์เซอร์วิส ครับ ซึ่งผลกำไรนั้นดูแล้ว FlightSafety จะเป็นตัวช่วยดึง NetJets ไว้มาก แต่ภาพรวมก็ยังดูดีอยู่

บรรยากาศในศูนย์ฝึกอบรม Simulator 

ธุรกิจ FlightSafety นั้น คุณบัฟเฟทจัดให้อยู่ในระดับ Good เท่านั้น (แกมีสามระดับคือ Great, Good และ Gruesome) เพราะว่า FligthSafety จะต้องซื้อซิมูเลเตอร์ใหม่แทบจะทุกปี ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 12 ล้านเหรียญ และการที่จะทำให้ธุรกิจนี้เดินไปได้เรื่อยแกจะต้องลงทุนปีละราวห้าร้อยกว่าล้านเหรียญ  นี่ยังไม่นับสายการบิน NetJets ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วอเมริกา, ยุโรปและเอเชียนะครับ ซึ่งแกบอกว่าข้อนี้คือข้อเสียของธุรกิจการบิน เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าธุรกิจอื่นเพื่อจะคงอยู่ในตลาดและทำกำไรต่อไป ยิ่งเป็นสายการบินแล้วยิ่งไปกันใหญ่

ยกตัวอย่างการบินไทยครับ ต้องลงทุนซื้อ Airbus 380 เข้ามาหลายลำเพื่อรักษาตำแหน่งของสายการบินระดับพรีเมี่ยมไว้ ก็เลยต้องระดมเงินมหาศาลมาซื้อเครื่องบินใหม่ๆ นี่ถ้าไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นและมีกระทรวงการคลังช่วยอาจจะแย่ไปแล้ว  ส่วนนกแอร์และบางกอกแอร์เวย์นั้นก็กำลังยื่นเรื่องขอเข้าตลาดหุ้นเหมือนกัน คาดว่าทั้งสองสายการบินคงจะเปิดขายหุ้น IPO ภายในปีนี้ครับ  สาเหตุก็น่าจะมาจากหาทางระดมทุนนั่นเอง

ล่าสุดเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา FlightSafety ก็บุกตลาดอินเดีย ไปร่วมกับบริษัทอินเดียชื่อ Aviators India เปิดศูนย์เทรนนิ่งอยู่ที่เมืองบังกาลอร์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะในช่วงแรกจะเน้นการเทรนลูกเรือ (Flight Attendant) เป็นงานหลัก เรื่องเทรนนักบินและช่างจะเติบโตตามทีหลัง และคาดว่าธุรกิจนี้จะโตเป็นสองเท่าภายใน 5-7 ปีเลยเชียว

No comments:

Post a Comment