Friday, May 3, 2013

แผ่นดินไทยที่เสียไป


22 เมษายน 2556
 
ขอติดกระแสปราสาทเขาพระวิหารกันบ้างนะครับ เป็นที่ทราบทั่วกันแล้วว่าตอนนี้ทีมทนายความไทย นำโดยท่านทูตวีรชัย พลาศรัย (เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก) นั้นเพิ่งสร้างความภูมิใจและทำหน้าที่คนไทยได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งตอนนี้ท่านทูตวีรชัยก็กลายเป็นฮีโร่ของเราๆไปแล้ว วันนี้ผมก็เลยจะมาเล่าให้ฟังว่า แผ่นดินบริเวณปราสาทเขาพระวิหารเนี่ยเป็นของไทยมาแต่สมัยไหนกัน สมควรขนาดไหนที่เราจะต้องรักษาหวงแหนไว้....
แผนที่ประวัติศาสตร์ฝีมือคุณทองใบ แตงน้อย

หลายๆคนในยุคเดียวกับผม (สามสิบกว่าปีโน้น) คงจำได้สมัยเราเรียนชั้น ม.1 ว่าหนังสือที่ใช้เรียนภูมิศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการที่เราใช้ตอนนั้นก็คือ ฉบับของนายทองใบ แตงน้อย ผมยังจำได้ดีว่าเป็นภาพเขียนลายเส้นลงสีสวยงามมากๆ ในเล่มนี้ก็มีปรากฏแผนที่ประเทศไทยที่แสดงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย (หรือสยาม) ที่กว้างขวางมาก....ทิศตะวันออกนั้น แผ่นดินชาติเราครอบคลุมถึงประเทศลาวและเขมรทั้งประเทศเลยนะครับ

ทางเหนือก็ขึ้นสูงไปจนจรดแคว้นสิบสองจุไท(จีน ) ส่วนทางตะวันตกนั้นเล่า...ทั้งเมืองทวาย (ที่กลายเป็นทวายโปรเจคท์ในตอนนี้), เมืองตะนาวศรี ก็ล้วนเป็นของเราทั้งนั้น

โตขึ้นมาผมถึงได้รู้ว่า แผนที่ฉบับนี้แสดงอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของชาติเราที่ได้มาแต่สมัยพระนเรศวรเป็นเจ้าจนกระทั่งเริ่มมีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อกาลผ่านไปแผ่นดินเหล่านี้ก็ค่อยๆถูกตอดเล็กตอดน้อยไปเรื่อยทีละเล็กละน้อย ไม่ว่าจะด้วยการแข็งเมืองหรือการสู้รบระหว่างชนพื้นเมืองสมัยนั้น แต่ก็ไม่ได้สูญเสียอะไรไปมากนัก จนกระทั่งถึงสมัยยุคการล่าอาณานิคมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ครับ ซึ่ง”ฝรั่งเศส” ก็คือชนชาติที่มารุกรานเราด้วยกำลังทางทหารที่ยิ่งใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นเรือรบหรือปืนที่ทันสมัย สมัยนั้นกำลังรบหลักแผ่นดินสยามของเรายังเป็นดาบ ทวน หอก อยู่ มีปืนยาว หรือ ปืนใหญ่บ้างก็มิได้มากมาย ด้วยเพราะแผ่นดินกำลังอยู่กันอย่างสงบสุข
วิกฤติการณ์ ร.ศ.112 เมื่อครั้งฝรั่งเศสรุกรานสยาม

เราโดนฝรั่งเศสเอากำลังทหารมายึดครองแผ่นดินเราเอาดื้อๆนี่ละครับ ทางเรือบ้าง บางกรณีก็ทำเนียนมาเป็นมิตรให้ความคุ้มครอง แต่สุดท้ายก็ออกลายนักเลงมายึดแผ่นดินเขาแทน ครั้งที่หนักๆนี่ก็คือ เสียกัมพูชาไปครึ่งประเทศในสมัย ร.4 พอเข้าสู่รัชสมัยของ ร.5 เราก็เสีย “ลาว” ทั้งหมด(สมัยนั้นเรียกอาณาจักรล้านช้าง), กัมพูชาที่เหลือ คือ จ.พระตะบอง, จ.เสียมราฐ และ จ.ศรีโสภณ ซึ่งทั้งสามจังหวัดนี้ เดิมเราเรียกว่า “มณฑลบูรพา” ครับ นับเป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 12 ตั้งแต่มีกรุงรัตนโกสินทร์มา

อันปราสาทพระวิหารนี้ก็อยู่ในพื้นที่มณฑลบูรพานี่เองแหละครับ การเสียแผ่นดิน 5 ครั้งในช่วงปี 2410-2451 นี้สร้างความโทมนัสให้กับล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งเจ้านายฝ่ายในต้องช่วยกันขายของหาเงินมารวมกับเงิน”ถุงแดง” (สำรองในท้องพระคลัง) เพื่อไถ่เมืองจันทบุรีจากฝรั่งเศสเชียว

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2436 ในหลวงรัชกาลที่ห้าถึงกับทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเหล่าเสนาบดีว่า “ฉันรู้ตัวอยู่ชัดว่า ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามสุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตของฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

มีผู้คิดคำนวณออกมาแล้วว่า พื้นที่แผ่นดิน (567,500 ตร.กม.) ที่เราสูญเสียไปให้ฝรั่งเศสทั้ง 5 ครั้งนั้นกว้างใหญ่กว่าแผ่นดินที่เราเหลือคงอยู่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเสียอีก (513,115 ตร.กม.) พวกเราพึงรู้ไว้เถิดครับว่า แผ่นดินที่เราอาศัยกินอยู่หลับนอนนั้น ล้วนทาด้วยเลือดของบรรพบุรุษที่สละชีพไว้ให้เราอยู่เย็นเป็นสุขมาจนปัจจุบัน อย่าว่าแต่ผืนดิน 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหารเลยครับ แผ่นดินเขมรทั้งประเทศที่ตั้งตนเป็นเสี้ยนหนามไทยอยู่นั้น ก็เคยเป็นแผ่นดินของเรามาก่อน

จงภูมิใจในชาติและแผ่นดินเกิดของเราเถิดครับ เราเกิดมามีภาษา, มีวัฒนธรรม, มีประวัติศาสตร์ชาติให้ชื่นใจนี้ ดีกว่าชนชาติที่ต้องตื่นมาโดนเขาบังคับให้ก้มหัวเคารพธงชาติชาติอื่นเขาหลายร้อยหลายพันเท่านัก

คิดถึงวรรคหนึ่งของเพลงคาราบาวที่ว่า “ ไม่มีดินผืนใดให้ไออุ่นเท่ากับดินที่คุณถือกำเนิด ไม่มีดินผืนใดดูมั่นคงเท่ากับดินที่ลงสำมะโนครัว ไม่มีดินผืนใดให้คุณเดินเท่ากับดินที่คุณเดินตอนตั้งไข่....ไม่มีดินผืนใดมีความหมายเท่าแผ่นดินสุดท้ายของเผ่าพันธุ์....”

ขอให้ความดีของท่านผู้เพียรพยายามต่อสู้รักษาแผ่นดินไทยไว้จงเป็นเกราะคุ้มภัยอันตรายอย่าให้ได้แผ้วพาน และขอสาปแช่งผู้ทรยศคิดคดต่อแผ่นดินเกิดขอให้ชีวิตนี้อย่าได้พบกับความสุขใดๆชั่วลูกสืบหลานด้วยเทอญ

No comments:

Post a Comment