Friday, November 16, 2012

เครื่องบินโดยสารจีน C919

เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ลำแรกของจีน Comac C919

เมื่อวานก็พูดถึงว่าที่ปธน.จีนคนใหม่ไปแล้ว  วันนี้ผมก็ขอพูดถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการบินของจีนหน่อยนะครับ  ซึ่งนับแต่จีนพัฒนาการปกครองเป็น “1 ประเทศ 2 ระบบ” ในยุคที่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนเมื่อปี 1997 จีนก็ได้เปิดตัวเองเพื่อรับและส่งออกเทคโนโลยีมากมายผ่านทางฮ่องกง จนวันนี้กลายจีนเป็นโรงงานของโลก และหนึ่งในเทคโนโลยีที่จีนนำมารุกโลกตะวันตกก็คือ “เทคโนโลยีการบิน” ครับ

สัปดาห์นี้คือ 13-18 พ.ย.55 เป็นช่วงที่จีนจัดงาน “จูไห่ แอร์โชว์ (Zhuhai Airshow)” ขึ้นที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้งครับ ก็มีการนำเครื่องบินและเทคโนโลยีอวกาศมาแสดงมากมาย ทั้ง Drone (อากาศยานไร้คนขับ), เครื่องบินไฟท์เตอร์, เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ ที่ผลิตโดยจีน แต่ที่ผมจะหยิบนำมาเล่าก็คือ เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ C919 ที่ออกแบบมาเพื่อสู้กับโบอิ้ง 737 และแอร์บัส A-320 ครับ


ที่นั่งผู้โดยสารในเครื่องบิน Comac C919
เป็นที่รู้กันว่าเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ตามสายการบินต่างๆทุกวันนี้ถูกผูกขาดโดยขาใหญ่สองยี่ห้อ คือ โบอิ้งของอเมริกา และ แอร์บัสของฝรั่งเศส เรียกได้ว่าเป็น Duopoly ก็ว่าได้ รัฐบาลจีนก็เลยตั้งบริษัท Comac (Commercial Aircraft Corporation of China) ขึ้นมาเมื่อปี 2008 โดยเกิดจากบริษัทการบิน + บริษัทอลูมิเนียม + บริษัทเหล็ก และบริษัทอื่นๆในจีนที่จำเป็นต่อการสร้างเครื่องบินมารวมกันเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของรัฐบาลจีน เพื่อทลายการผูกขาดของโบอิ้งและแอร์บัสโดยเฉพาะเลยครับ

เมื่อปี 2011 Comac ก็จับมือกับบริษัท บอมบาร์เดียร์ของแคนาดา (ผลิตเครื่องบินเป็นอันดับสามของโลก) เพื่อสร้างเครื่องบินโดยสารรุ่น C919 ขึ้นมาเป็นรุ่นแรก ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 160-190 คนเพื่อเอามาทำตลาดสู้กับโบอิ้ง 737 และ แอร์บัส A-320 ซึ่งก็ค่อนข้างทำได้ดีมากๆ เพราะเปิดตัวมาได้ไม่ถึงปีก็มียอดสั่งจองไปแล้ว 380 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินในประเทศของจีน เช่น ไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลน์, แอร์ไชน่า, ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์, เสฉวนแอร์ไลน์  นอกนั้นก็จะเป็นพวกบริษัทจีนที่ทำธุรกิจให้เช่า (lease) เครื่องบินต่างๆ เพราะนอกจาก C919 จะบรรทุกผู้โดยสารได้แล้ว ยังทำเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า (Air freight หรือ Air Cargo) ได้ด้วย


cockpit นักบิน
การสร้างเครื่องบินโดยสารนั้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงครับ ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องยอมแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุนกับ GE เพื่อให้ได้ระบบสื่อสารกับระบบนำร่องมาใช้ แล้วก็เลยทำให้ GE สั่งซื้อเครื่อง C919 อีก 20 ลำเพื่อเอามาให้เช่าต่อไป นอกจากนี้จีนก็ได้ความร่วมมือจากสายการบินไรอันแอร์ ของไอร์แลนด์ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอีกตะหาก ทั้งนี้เพราะไรอันแอร์ก็เป็นสายการบินโลคอสใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 (ไซส์เดียวกับ C919) อยู่เกือบ 300 ลำ งานนี้ดูแล้วโบอิ้งกับแอร์บัสคงจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวใช่ย่อย.....

เครื่องบิน C919 นั้นจะเริ่มบินครั้งแรกในอีกสองปีข้างหน้าคือ ปี 2014 และจะเริ่มส่งให้ลูกค้าได้ในปี 2016 ครับ และเท่าที่หาข้อมูลมาได้ ตอนนี้จีนมีกำลังการผลิตได้ปีละ 50 ลำเท่านั้น แต่เชื่อว่าอีกไม่นานคงจะเพิ่มการผลิตได้อีก และเห็นว่าถ้าโปรเจ็คท์นี้เวิร์ค จีนก็ก้าวต่อไปเพื่อผลิตเครื่องที่ใหญ่ขึ้นอีก คือ รุ่น C929 (290 คน) และ C939 (390 คน)

ไม่แน่นะครับ อีกไม่นานเราอาจจะได้นั่งเครื่องบินโดยสารจีนไปโน่นไปนี่ก็ได้.....อย่าดูถูกไปเชียว เพราะบรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในโบอิ้งและแอร์บัสก็มีคนจีนอยู่หลายทีเดียว

No comments:

Post a Comment