Thursday, November 8, 2012

เกาะรามรี


เชื่อว่าหลายๆคนคงไม่รู้จัก “เกาะรามรี” นี้แน่นอนครับ ด้วยว่าเป็นเกาะเล็กๆเกาะนึงของพม่าที่อยู่ติดอ่าวเบงกอล แต่ที่ผมจะเขียนเล่าถึงก็เพราะว่าในขณะนี้เกาะรามรีก็เป็นอีกโปรเจคท์ยักษ์ใหญ่ของพม่า ที่มักจะมีคนเอามาเปรียบเทียบกับทวายโปรเจคท์อยู่เสมอด้วยความที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และเป็นการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาจากผืนดินว่างเปล่าเหมือนๆกัน

ที่ตั้งเกาะรามรี  ตรงตัว A ครับ รูปร่างเหมือนขวาน

เกาะรามรีนี้มีขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตบ้านเราประมาณสองเท่านิดๆครับ คือราวๆ 1,300 ตร.กม. อยู่ในรัฐยะไข่ แต่แหม....จริงๆแล้วจะเรียกว่าเกาะก็ไม่สนิทใจนัก เพราะมีผืนดินเล็กๆเสมือนสะพานธรรมชาติเชื่อมเข้ากับแผ่นดินใหญ่ด้วย ก็เลยเป็นทำเลที่เหมาะจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพราะตรงส่วนที่เป็นเกาะก็สามารถสร้างท่าเรือน้ำลึกได้โดยรอบ ส่วนการเชื่อมถนนเข้ากับแผ่นดินใหญ่ก็ง่าย ไม่ต้องสร้างสะพานข้ามทะเลแต่อย่างใด (นึกภาพว่าเกาะนี้คล้ายๆขวานน่ะครับ หัวขวานคือตัวเกาะ ด้ามขวานคือส่วนเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่)

เมื่อปี 2009 จีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของพม่ามาแสนนานก็ส่งบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่ของจีนชื่อ Citic Group เข้ามารับสัมปทานพัฒนาพื้นที่ทั้งเกาะนี้ไปเลย แล้วก็ตั้งชื่อเป็นทางการว่า “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งจ๊อกพิว” (จ๊อกพิว หรือ Kwaukpyu เป็นเมืองเล็กๆอยู่ตรงมุมทางเหนือของเกาะรามรีครับ) ต่อมารัฐบาลพม่าก็ตั้งเกาะรามรีนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการลดหย่อนภาษีหลายๆปีให้กับธุรกิจทั้งหลายบนเกาะนี้ด้วย เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคงดภาษี 8 ปี, การผลิตต่างๆงดภาษี 5 ปี เป็นต้น เพื่อกระตุ้นนักลงทุนน่ะแหละ
ภาพโปรเจ็คท์การพัฒนาเกาะรามรี โดยบริษัท Citic Group ครับ


บนเกาะรามรีนี้จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนๆครับ คือ โซนอาคารธุรกิจ, ท่าเรือน้ำลึก, ทางรถไฟ, สนามบินใหม่, อุตสาหกรรม, โลจิสติก และที่พักอาศัย พอลองไปดูตรงส่วนท่าเรือน้ำลึกนั้น นอกจากจะเป็นแหล่งขนย้ายสินค้าแล้ว ยังมีโรงซ่อมเรือสินค้าด้วย เพราะว่าพม่าตั้งใจจะใช้เกาะรามรีเป็นแหล่งส่งออก-นำเข้าสินค้าจากโพ้นทะเล ให้เรือสินค้าทุกแห่งมาเข้าใช้บริการของเขา ขนสินค้าขึ้นจากเรือแล้วก็เอาขึ้นรถไฟวิ่งผ่านจีนกับไทยไปต่อได้โลด.....ไม่ต้องไปผ่านช่องแคบมะละกาอีกต่อไป

วิธีการโซนนิ่งที่บริษัท Citic เขาโปรโมทไว้ก็คือ แบ่งพื้นที่แต่ละโซนโดยใช้พื้นที่ป่า นัยว่าเพื่อสยบเสียงต่อต้านจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมไปในตัว อ้อ นอกจากจะมีพื้นที่อุตสาหกรรมแล้ว ก็ยังแบ่งบางส่วนเป็นชายหาดสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยเหมือนกัน
เส้นทางท่อส่งน้ำมันและก๊าซขึ้นไปยังมณฑลยูนนานของจีน

แต่ที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของอุตสาหกรรมบนเกาะนี้ก็คือ “ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” ครับผม จีนร่วมลงทุนกับพม่าต่อท่อส่งน้ำมันและก๊าซยาวกว่า 1,500 กิโลเมตร เริ่มจากอ่าวเบงกอล ลากพาดพม่ายาวเฟื้อยขึ้นไปถึงคุนหมิงของจีนโน่น ทำให้จีนไม่ต้องไปซื้อหาแหล่งพลังงานจากที่ไหนอีก เพราะจีนขุดเองในอ่าวเบงกอลนั่นน่ะแหละ แถมท่อนี้ยังเป็นจุดเชื่อมให้จีนสามารถรับน้ำมันและก๊าซจากตะวันออกกลางได้อีกตะหาก ไม่ต้องพึ่งปตท.ของไทยและ Gazprom ของรัสเซียอีก แถมกำลังจะมีแผนสร้างทางรถไฟขนานไปกับท่อก๊าซเพื่อให้สินค้าจีนส่งออกไปยังตลาดโลกง่ายขึ้นด้วย โดยใช้พม่าเป็นท่าเรือนั่นเอง

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเกาะรามรี ก็จะเจอเรื่องสยองอย่างหนึ่งครับ คือ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาะรามรีนี้นั้น ฝ่ายอังกฤษพยายามอย่างหนักที่จะยึดพื้นที่นี้คืนจากญี่ปุ่น สองฝ่ายรบกันไปมาอยู่ 6 สัปดาห์ จนกระทั่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1945 ทหารญี่ปุ่นราว 900 คนโดยฝ่ายอังกฤษรุกไล่จนต้องล่าถอยข้ามหนองน้ำในตอนกลางคืน แต่ก็หารู้ไม่ว่า ในหนองน้ำที่ยาวแค่ 16 กม.นั้นเต็มไปด้วยจระเข้น้ำเค็มนับพันตัว ทหารญี่ปุ่นประมาณ 400 คนโดนจระเข้น้ำเค็มขย้ำจนตายเกลื่อนคาหนองน้ำนั้น ที่เหลือรอดมาได้ก็บาดเจ็บมากมาย
พื้นที่วงกลมสีเหลืองทางขวาคือจุดที่เกิดโศกนาฏกรรม
จระเข้น้ำเค็มโจมตีทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

ทหารอังกฤษได้จดบันทึกเหตุการณ์สยดสยองนี้ไว้ว่า พวกเขาได้ยินเสียงปืนและเสียงร้องโหยหวน พร้อมกับเสียงกรามจระเข้บดขยี้กระดูกมนุษย์ตลอดทั้งคืน เช้าวันต่อมาก็เห็นฝูงแร้งลงมากินซากที่เหลือจากจระเข้.....เหตุการณ์นี้ได้รับการบันทึกในกินเนสส์บุ๊คว่า เป็น “The Greatest Disaster Suffered from Animals” เลยละฮะ

เขียนไปเขียนมากลายเป็นจระเข้กินญี่ปุ่นซะงั้น   เอาเป็นว่าเกาะรามรีนี้อนาคตจะกลายเป็นประตูเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับโลกภายนอก โดยเฉพาะตะวันออกกลางและยุโรปครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็แอบเสียใจว่า ถ้าไทยเราขุดคลองกระตั้งแต่แรก เราคงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแทนพม่าไปแล้ว  อย่างไรก็ดี  ตอนนี้เราก็คงวางโพสิชั่นตัวเองในฐานะ crossroad ระหว่างจีน,พม่า, ลาว, กัมพูชาและเวียดนาม เพราะการสร้างทางรถไฟในบ้านเราก็จะทำให้เราเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไปโดยปริยาย

No comments:

Post a Comment