Thursday, July 10, 2014

รถยนต์ไฟฟ้า 100%

วันนี้นั่งรถอยู่แล้วเห็นรถคันนี้ครับ ชื่อยี่ห้อคือ "เทสลา (Tesla)" เป็นรถยนต์ยี่ห้อแรกและยี่ห้อเดียวบนโลกที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ไม่มีการใช้น้ำมันเลย (และไม่ใช่ไฮบริดเหมือนโตโยต้าพรีอุสด้วยนะ) ใช้การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ล้วนๆแล้วเอาไฟฟ้ามาขับเคลื่อนอีกที ก็เลยไม่มีการปล่อยไอเสียแม้แต่นิดเดียว


คนที่สนใจก็คงอยากรู้เช่นเดียวกันกับผมว่า แล้วชาร์จทีนึงมันจะวิ่งได้ไกลเท่าไร คำตอบก็คือ แบตเตอรี่ขนาด 80 กิโลวัตต์ชาร์จเต็มเนี่ยวิ่งได้เต็มที่ 480 กิโลเมตรครับ และอายุการใช้งานของแบตเตอรี่เขาคือ 8 ปี พอครบแปดปีแบตเสื่อมปุ๊บก็ซื้อเปลี่ยนได้ แถมมีให้ซื้อแบตสำรองได้ด้วย เช่นถ้ากะว่าจะวิ่งไปไกลๆ ก็สามารถแบกแบตสำรองแล้วไปถอดสวอปเปลี่ยนกลางทางได้เลย

ทีนี้การชาร์จแบตเพื่อใช้งานประจำวัน ก็ไม่จำเป็นต้องชาร์จเต็มทุกวันครับ เช่นถ้าเราใช้เฉลี่ยวันละ 100 กม. เราก็เสียบปลั๊กชาร์จกับปลั๊กที่บ้านแค่วันละ 2 ชั่วโมง ต้นทุนก็ตามค่าไฟน่ะครับ ราวๆ 80 บาทต่อวัน

ผู้ผลิตคือ บริษัทเทสลามอเตอร์ เขาแนะนำให้ใช้ไฟขนาด 240 โวลท์เพื่อชาร์จไฟครับเพราะให้กำลังชาร์จสูงกว่า ซึ่งก็ตรงกับขนาดไฟบ้านเราพอดี (เมกาเขาใช้ 110 โวลท์) เราซื้อรถมาปุ๊บเราก็แค่ซื้อระบบชาร์จไฟมาติดตั้งที่บ้าน ก็คือมีหัวสายเสียบกับปลั๊กที่บ้านแล้วก็สายไฟต่อมาเสียบกับแบตรถเราอีกที ถ้าขับไปถึงออฟฟิศก็สามารถเอาสายชาร์จเคลื่อนที่เสียบกับปลั๊กที่ออฟฟิศได้เลย (แต่อาจต้องมีโมดิฟายหัวปลั๊กหน่อย)

ในอเมริกาและยุโรปเขามีสถานีชาร์จไฟ หรือเรียกว่า "ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์" ไว้ให้รถไฟฟ้าแล้วราวๆ 120 สถานี ส่วนในเอเชียเรามีอยู่ 3 สถานีคือที่เซี่ยงไฮ้สองสถานีกับที่ปักกิ่งอีกหนึ่งสถานี และกำลังเปิดเพิ่มอีกเรื่อยๆ ความเจ๋งของสถานีนี้คือ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาชาร์จไฟให้น่ะเอง สมกับเป็นพลังงานสะอาดทั้งวงจรจริงๆ



ตอนนี้เทสลามอเตอร์เขาผลิตออกมารุ่นเดียวครับคือ Model S เป็นรถซีดาน มี 3 รุ่นให้เลือกตามกำลังแรงม้า เริ่มจาก 302 แรงม้า ขึ้นไปถึง 416 แรงม้า รับประกันแบตให้เลย 8 ปี

ราคาจัดอยู่ในระดับรถหรู คือ ราวๆ 2.2-2.8 ล้านบาท (ราคาในเมกาครับ) ซึ่งคุณภาพและการตกแต่งภายในก็ถือว่าหรูจริง ไม่ได้ป๊อกแป๊กเหมือนโตโยต้าพรีอุส และในปีหน้าก็จะออกรุ่นใหม่ออกมาอีกคือ Model X ซึ่งจะเป็นแบบ SUV แล้ว เห็นรูปแล้วงามงดมาก...

เอาเงินไปฝากใน กบข. คุ้มไหม?

เอาเงินไปฝากใน กบข. คุ้มไหม?  (ฉบับเขียนยาวหน่อยครับ เขียนสำหรับเพื่อนทหาร)

เมื่อวานนี้ได้ไปร่วมงานศพของคุณพ่อเพื่อนจปร.47 ท่านหนึ่งที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน   หลังจากที่เสร็จพิธีสวดแล้วก็ได้ยืนคุยกับเพื่อนๆตามประสาของเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานแล้ว  ซึ่งเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ  การหักเงินเดือนทหารเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆว่า “กบข.”  

ไอเดียการสร้าง กบข. ขึ้นมา ก็เพื่อเปลี่ยนการรับเงินบำนาญของข้าราชการเกษียณว่า  แทนที่จะให้รัฐเอางบประมาณของรัฐจ่ายเงินให้ข้าราชการเกษียณเหมือนปัจจุบัน  ก็ให้ใช้วิธีหักเงินเดือนของข้าราชการปัจจุบันมาเข้ากองทุน  แล้วพอเกษียณก็รับเงินที่ตัวเองหักฝากพร้อมดอกเบี้ยเอาไปใช้ในชีวิตบั้นปลายนั่นเอง  (ทำนองอัฐยายซื้อขนมยายน่ะแหละ)

และเพื่อนๆผมก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก กบข. เท่านั้น  เนื่องจากรัฐบาลบังค้บเสียแล้ว  เรื่องนี้เราก็คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

แต่คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวผมก็คือ  “ดอกเบี้ย” ที่เพื่อนๆของผมได้รับจากการบริหารกองทุนนี้มัน  
  1. คุ้มค่ากับที่เขาเอาเงินไปฝากไว้เกือบๆ 40 ปีหรือเปล่า?
  2. เพื่อนผมควรจะคาดหวังเอาผลตอบแทนจาก กบข. นี้เป็นเงินใช้จ่ายหลักหลังเกษียณหรือเปล่า?
ผมก็เลยเปิดเข้าไปในเว็บของ กบข.  แล้วก็พบว่ากองทุนนี้เขาตั้งมาตั้งแต่ปี 2540  นับถึงปัจจุบันก็ 16 ปีเศษๆ  ข้อมูลที่ผมจับมาใช้ประโยชน์ได้ก็มีอยู่ 3 อย่างครับ คือ
  1. กองทุนมีขนาด  4.5 แสนล้านบาท
  2. การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ใน “ตราสารหนี้”
  3. อัตรากำไรเฉลี่ย 16 ปี คือ 7.5%
เอาข้อแรกก่อนก็แล้วกัน  คือ  ขนาดกองทุน 4.5 แสนล้านบาท  ซึ่งเทียบได้กับกองทุนขนาดยักษ์ใหญ่อลังการดาวล้านดวงมากเมื่อผมเอาไปเทียบกับกองทุน LTF และ RMF ของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งอันนั้นเขามีขนาดกองทุนเฉลี่ย 2 - 3.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น   ส่วน LTF ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1 - 2 หมื่นล้านเท่านั้น  ยิ่งถ้าเป็น RMF ของกรุงศรีนั้นขนาดราวๆหลักพันล้านเลยด้วยซ้ำ

เหตุผลที่ผมเอาไปเปรียบเทียบกับ LTF และ RMF ก็เพราะว่าเป็นกองทุนระยะยาวเหมือนกันครับ

โอเค….ข้อแรกเป็นอันรู้กันว่า  กบข.นั้นเป็นกองทุนที่ขนาดใหญ่แทบจะที่สุดในตลาดกองทุนเมืองไทยเลย  จะขยับไปซื้ออะไรทีนึงก็ทำให้ตลาดสะเทือนได้เลยนะ  แล้วทีนี้เขาเอาเงินเพื่อนผมไปทำอะไรบ้างล่ะ?

ต่อมาข้อที่สองคือ  กบข.เขาเอาเงินไปลงทุนใน”ตราสารหนี้”

สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่า ตราสารหนี้ คืออะไร  ผมก็สรุปสั้นๆได้เพียงว่า  เวลาที่บริษัทไหนเขาจะระดมทุนไปทำอะไรสักอย่าง  เขาจะออกตราสารหนี้ออกมาเพื่อขอยืมเงินเราไปใช้  จะห้าปี สิบปีอะไรก็ว่าไป  แล้วกำหนดดอกเบี้ยให้เลยว่าพอครบอายุถอนคืน  เราจะได้เงินต้นคืนพร้อมกับดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์



ถามว่าปลอดภัยไหม....คำตอบคือปลอดภัยมากกก  เงินต้นของเราไม่หายแน่ถ้าซื้อตราสารหนี้  แต่ผลตอบแทนก็จะต่ำมากเช่นเดียวกัน คือ  ดอกเบี้ยราว 4-5% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งมักจะหนีเงินเฟ้อไม่ค่อยได้  แต่ก็ยังดีกว่าเอาไปฝากออมทรัพย์ซึ่งดอกเบี้ยต่ำเตี้ยน่าเวทนามาก

การลงทุนในโลกนี้ก็มีหลายแบบครับ  เช่น หุ้น, อสังหาริมทรัพย์, ตราสารหนี้, ทอง, น้ำมัน, ฝากแบงก์, ปล่อยกู้, เล่นหวย,​โต๊ะแชร์ ฯลฯ  เสี่ยงมากก็กำไรมาก  เสี่ยงน้อยก็กำไรน้อย

ต่อมาข้อที่สามคือ  อัตรากำไรเฉลี่ย 16 ปี คือ 7.5%

ก็อย่างว่าละครับ  เขาเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนหลักในตราสารหนี้ซึ่งเน้นความปลอดภัย  อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 7.5% ต่อปีนี่  ผมถือว่าน้อยมากๆเลยนะ

ทีนี้สมมติว่า  ถ้า กบข.เอาเงินไปลงทุนในหุ้นล่ะ  ผลตอบแทนจะเป็นเท่าไร?  ผมก็เลยเข้าไปดูในผลประกอบการ  5 ปีย้อนหลังของกองทุน LTF และ RMF 10 อันดับแรกในตลาดกองทุนไทย  ก็พบว่า  ในบรรดากองทุนที่เอาไปลงทุนในหุ้นนั้น  ผลกำไรสะสมย้อนหลัง 5 ปีคือ 180%  คิดง่ายๆคือ  ถ้าปีแรกเอาเงินใส่เข้าไป 10,000 บาทก้อนเดียว  พอปีที่ห้าเงินจะงอกขึ้นเป็น 28,000 บาท

แต่ถ้าเป็น กบข. ผมใส่เงินเข้าไป 10,000 บาทก้อนเดียว  พอปีที่ห้าผมจะมีเงินงอกขึ้นเป็น 16,289 บาทเท่านั้น  (คิดดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี)

กำไรเฉลี่ยของ กบข.ต่อปีคือ 7.5% ครับ ส่วนกองทุน LTF หรือ RMF สิบอันดับแรกคือ ประมาณ 15-20% ต่อปี

ผมก็คงไม่วิจารณ์ว่านโยบายการลงทุนของ กบข. เขาทำกำไรดีหรือห่วย  เพราะบางทีอาจมองต่างมุมว่า  “กบข.ต้องเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก”  ก็เป็นได้นะ  (ซึ่งก็จริงของเขา)

เขียนมาถึงตอนนี้  ผมก็พอจะตอบคำถามที่ตั้งไว้ตอนแรก 2 ข้อได้ดังนี้

1. คุ้มค่ากับที่เขาเอาเงินไปฝากไว้เกือบๆ 40 ปีหรือเปล่า?

อันนี้ผมตอบได้เลยว่าไม่คุ้มค่า  เพราะด้วยอัตราผลประกอบการที่เน้นความปลอดภัยแบบนี้  ผมมองว่าเป็นการเอาเงินเพื่อนๆผมไปกองไว้เสียเวลาเปล่าๆ  กบข.น่าที่จะทดลองเปลี่ยนนโยบายแบ่งเอาเงินบางส่วนไปลงทุนในหุ้น หรือ ไปซื้อกองทุนที่เขาลงทุนในหุ้นบ้าง  อัตราผลกำไรจะได้ดีกว่านี้

2. เพื่อนผมควรจะยึดถือเอาผลตอบแทนจาก กบข. นี้เป็นเงินใช้จ่ายหลักหลังเกษียณหรือเปล่า?

คำตอบ คือ “ไม่”  เพื่อนผมควรจะถือเอาเงินก้อนนี้เป็นเงินสำรองชีวิตเท่านั้น  เพราะผมลองคำนวณว่า  ถ้าเพื่อนผมๆหักฝากเดือนละ 3% (ซึ่ง 3% ขั้นต่ำของการหักฝากกบข. สูงสุดคือ 15%)  โดยผมสมมติว่าเงินเดือนเฉลี่ยของเพื่อนผมจนเกษียณคือ 50,000 บาท ก็คือเดือนละราวๆ 1,500 บาท  ฝาก 35 ปี  ดอกเบี้ยปีละ 7.5% แล้ว

พอเพื่อนผมเกษียณ  เขาจะได้รับเงินจากกองทุนนี้ คือ 2.9 ล้านบาท  (เงินต้น 630,000 บาท + กำไร 2,270,000 บาท)  เมื่อมาคิดหักจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว  ก็ไม่ได้เยอะมาก

แต่ถ้าเพื่อนผมเปลี่ยนเป็นหักฝากเดือนละ 10% ก็คือเดือนละราวๆ 5,000 บาท  เป็นเวลา 35 ปี ก็จะได้เงินหลังเกษียณคือ ประมาณ 9.7 ล้านบาท (เงินต้น 2.1 ล้าน + กำไร 7.6 ล้าน)

สรุปจบสุดท้ายคือ  “เพื่อนผมควรจะทำอย่างไร?”  คำตอบก็มีสองแนวทางครับ คือ
  1. เพิ่มจำนวนเงินหักฝากต่อเดือนให้เต็มที่  อย่างน้อยๆคือ เดือนละห้าพันบาทขึ้นไป  สุดท้ายเราจะได้เงินวันเกษียณเกือบๆสิบล้านบาท (แต่ถ้าแก่แล้วอย่างรุ่นผม  ก็ให้มากกว่าห้าพันเยอะๆหน่อยก็ดี)
  2. ฝากกบข.ด้วยเงินขั้นต่ำต่อไป คือ 3%  แต่ไปเปิดบัญชีกองทุนรวม LTF หรือ RMF แล้วฝากเงินสะสมไปเรื่อยๆทุกเดือน  ซึ่งผลกำไรเฉลี่ยของกองทุน 10 อันดับแรก คือ 15-20% ต่อปี  ซึ่งผลกำไรดีกว่า กบข.มากมายนัก
สำหรับข้าราชการแล้ว  ผมไม่แนะนำให้เล่นหุ้น  แต่ให้ซื้อกองทุนดีกว่าครับ  เพราะเขามีมืออาชีพมาบริหารให้เราได้กำไรกว่าเยอะ  สำหรับกองทุน LTF และ RMF ที่ผมแนะนำก็มีของ  ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, บริษัทหลักทรัพย์อเบอร์ดีน, ธนาคารยูโอบี เป็นต้น

ใครอยากทดลองดูว่า  ถ้าเราฝากเงินเท่านี้ๆต่อเดือน  เป็นเวลาเท่านี้ๆ  ด้วยผลกำไรเท่านี้ต่อปี  พอเวลาผ่านไปจะได้รับเงินเท่าไรก็ลองดูที่ลิงก์ข้างล่างนี้นะครับ  ธนาคารทหารไทยเขาทำไว้ดีมากเลย

https://www.mytmb.com/calculator/

Friday, April 25, 2014

น้ำมันบรูไน

เมื่ออาทิตย์ก่อน  บริษัทส่งผมไปเยี่ยมชมกิจการ Aviation Department ของบริษัท บรูไน เชลล์ ปิโตรเลียม หรือ บีเอสพี มาครับ  นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไปเปิดหูเปิดตาดูประเทศเพื่อนบ้านของเราว่าประเทศที่ครั้งหนึ่งสุลต่านผู้ปกครองนั้นได้รับการจัดอันดับว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น  ตอนนี้บ้านเมืองเขาเป็นอย่างไร

ระหว่างนั่งรถของโรงแรมจากสนามบินบรูไน อินเทอร์เนชั่นแนลมายังเมืองซีเรียซึ่งเป็นที่ตั้งของบีเอสพีนั้น  ตลอดระยะทาง 60 กิโลเมตรผมก็สังเกตได้ว่าบ้านเรือนและถนนหนทางของเขาก็คล้ายบ้านเรา  แปลกแตกต่างตรงที่บ้านเรือนนั้นไม่มีรั้วเลย  แม้ว่าบรูไนนั้นจะมีขนาดเทียบได้กับจังหวัดเชียงใหม่ของเรา แต่เขาก็มีประชาชนอาศัยอยู่เพียง 400,000 คนเท่านั้น  (กรุงเทพฯมากกว่าห้าล้านคน) และผู้ประกอบการธุรกิจของเขาก็มักจะเป็นคนต่างชาติ เช่น จีน, มาเลเซีย และฝรั่งทั้งหลาย

"ซีเรีย" แหล่งเก็บน้ำมันดิบของบรูไน
ด้วยความร่ำรวยของเงินที่ได้จากน้ำมัน หรือ ที่เรียกกันว่า “Oil Money” นั้น  ทำให้รัฐบาลบรูไนไม่ต้องการเก็บภาษีเงินได้จากประชาชน....ใช่ครับ “ไม่ต้องเสียภาษี”  บรรดาสาธารณูปโภคทั้งหลายล้วนเป็นของขวัญจาก ”น้ำมัน” ครับ  รถยนต์นำเข้าก็ไม่เสียภาษี

บริษัทเชลล์นั้นเข้ามาผูกขาดการขุดเจาะและกลั่นน้ำมันภายในทะเลบรูไนได้ 85 ปีแล้ว และตอนนี้ก็ยังคงดูดกันต่อไปทั้งน้ำมันทั้งก๊าซธรรมชาติ  ราวกับจะไม่มีวันหมด   บรรดาแท่นขุดเจาะน้ำมันของเขาก็อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งเท่าไรนัก คือ ราวๆ 70 กิโลเมตรเท่านั้นเอง  ข้อดีก็คือ ทำให้ operation cost ในการวางท่อส่งน้ำมันหรือขนส่งซัพพลายต่างๆนั้นไม่แพงมาก  เทียบกับในแคนาดานั้นแท่นขุดของเขาอยู่กลางทะเลลึกมากๆ  ห่างจากฝั่งเกือบ 400 กิโลเมตร  ต้นทุนการผลิตก็จะแพงระยับ

ส่วนข้อเสียก็คือ  ภาพวิวจากชายหาดของเขาก็จะไม่งดงามเท่าเมืองไทย  แม้ทรายจะสวยหรือน้ำจะใส  แต่ก็คงไม่บันเทิงสุนทรียภาพทางสายตานักที่จะเล่นน้ำทะเลแล้วเห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ใกล้ๆนะครับ

ทีนี้ถามว่า “อ้าว…ในเมื่อแท่นขุดเจาะเขาใกล้ฝั่งขนาดนี้  ทำไมไม่ใช้เรือขนส่งวิศวกรไปทำงานบนแท่นล่ะ  น่าจะประหยัดกว่าเฮลิคอปเตอร์ตั้งเยอะ?”  คำตอบก็คือ  ทะเลบรูไนในจุดที่เขาขุดเจาะน้ำมันกันนั้นตื้นมากครับ คือ ราวๆ 20 เมตรเท่านั้นเอง  เรือใหญ่ๆแล่นไม่ได้  เพราะจะเกยตื้นหมด ในอดีตเคยมีการทดลองใช้เรือโฮเวอร์คราฟท์กันแล้ว  แต่ก็คงไม่จะไม่สะดวกสบายนัก  เฮลิคอปเตอร์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทั้งด้านความเร็วและความสะดวก

บีเอสพีนั้น  ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ รัฐบาลบรูไน ซึ่งถือหุ้นมากกว่า 50% รองลงมาก็คือ บริษัทเชลล์ ครับ ทำให้กิจการและความมั่นคงของเขาอยู่ในระดับแข็งแกร่งมาก  มีการทำรีเสิร์ชพบว่ามากกว่า 80% ของนักศึกษาจบใหม่ล้วนอยากจะมาร่วมงานกับบีเอสพีครับ  ด้วยความที่รายได้ก็อยู่ในระดับดีมากนั่นเอง

แม้ในตอนนี้ในทะเลบรูไนจะเริ่มมีบริษัทน้ำมันอื่นเข้ามามีส่วนแบ่งขุดเจาะแล้ว  เช่น โทเทล แต่ปั๊มน้ำมันในบรูไนนั้นก็มียี่ห้อเดียวเท่านั้นคือ "เชลล์" ครับ ไม่มียี่ห้ออื่นให้เห็นเลย

เมืองซีเรียที่ผมได้ไปเยี่ยมชมนั้น  เป็นที่ตั้งของถังเก็บน้ำมันดิบในส่วนที่จะนำมากลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในประเทศครับ  ซึ่งเขาจะมีถังเก็บขนาดใหญ่ยักษ์หลายสิบถัง (หน้าตาก็เหมือนกับถังน้ำมันที่อยู่ตรงข้ามสนามบินดอนเมืองน่ะครับ) เรียกว่า Seria Crude Oil Storage พอมองมาอีกฟากถนนก็จะเห็นโรงกลั่นที่จะกลั่นน้ำมันดิบตรงฟากโน้นให้มาเป็นน้ำมันที่พร้อมใช้งานได้ทันที  เรียกได้ว่าดูดปุ๊บ กลั่นปั๊บเลยเชียว  นักบินที่นี่เขาบอกผมว่า  ถ้าเมืองซีเรียเป็นอะไรไป  บรูไนก็จะไม่มีน้ำมันใช้ทันที

นอกจากจะมีน้ำมันใต้พื้นทะเลแล้ว  น้ำมันดิบใต้พื้นดินเขาก็มีครับ  ตลอดสองข้างทางถนนในเมืองซีเรีย  ก็จะเห็นแท่นขุดน้ำมันบนดินให้เห็นอยู่เรียงรายเป็นเรื่องปกติราวกับตู้โทรศัพท์เลยเชียว

แท่นขุดน้ำมันบนดินของเชลล์  พบได้ทั่วไปตามข้างทาง
ถึงตอนนี้ก็คงจะมีคนถามว่า  "แล้วราคาน้ำมันของเขาคงจะถูกกว่าเมืองไทยมากใช่ไหม?”  คำตอบก็เป็นที่แน่นอนว่า “ใช่ครับ”  เท่าที่ผมเห็นก็คือ ราคาถูกกว่าบ้านเราประมาณ 3-4 เท่า คือ 

- เบนซิน 97 ลิตรละ 0.5 $ (15 บาท)
- เบนซิน 92 ลิตรละ 0.513 $ (15.3 บาท)
- เบนซิน 85 ลิตรละ 0.36 $ (10.8 บาท)
- ดีเซล ลิตรละ 0.31 $ (9.3 บาท)

บ้านเราเองก็มีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมายให้บริษัทน้ำมันทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติดูดกันมาหลายสิบปีเช่นกัน  แต่ราคาก็แพงจนไม่น่าเชื่อว่าจะปล้นเงินจากคนแผ่นดินเดียวกันได้ขนาดนี้

บรูไนนั้น แม้พื้นที่เขาจะเล็ก แต่ก็ยังมีป่าไม้คิดเป็นกว่าสามในสี่ของพื้นที่ทั้งประเทศเขาเลยเชียว  ทำให้ขับรถไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้และภูเขากว้างใหญ่ไพศาลสวยงาม  ประเทศนี้ยังเป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดมากๆ ทั้งในเรื่องการทำละหมาด  ซึ่งในทุกๆห้องแม้ในออฟฟิศหรือห้องพักโรงแรม ก็จะมีสติ๊กเกอร์ติดบนเพดาน เป็นลูกศรสีเขียวชี้ไปยังทิศที่ตั้งของนครเมกกะ 

ผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ใช่สามีภรรยากันนั้น เขาห้ามอยู่ในที่ลับตาด้วยกัน หรือกระทั่งการบริโภคเนื้อหมู ซึ่งกฎหมายก็ผ่อนผันให้กับชาวต่างศาสนาว่า  เนื้อหมูนั้นให้ขาย, ปรุง และบริโภคได้โดยคนที่ไม่ใช่มุสลิมเท่านั้น  แต่การบริโภคเหล้าเบียร์นั้นต้องห้ามอย่างยิ่งในประเทศบรูไนครับ

เท่าที่ผมได้คุยกับนักบินชาวบรูไน  ก็ได้ความรู้มาว่า  กฎหมายการบินของบรูไนนั้นอ้างอิงมาตรฐานมาจากยุโรป หรือ EASA ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เคร่งครัดและชัดเจนกว่า ICAO หรือ FAA มากนัก  ด้วยเพราะอาจจะเป็นว่า บริษัท เชลล์ นั้นเป็นบริษัทของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นยุโรปนั่นเอง การมาเปิดกิจการใดๆเขาก็จะเอากฎหมายที่เขาคุ้นเคยมาใช้

นักบินชาวบรูไนคนนี้เป็นทั้ง Flight Instructor และ Technical Pilot ครับ  จบจากโรงเรียนการบินในอเมริกา  พวกเราคงเคยทำงานหรือพูดกับใครแล้วรู้สึกว่า “คนๆนี้คือคนมีความรู้ของจริง”  ผมก็มองเห็นสิ่งนี้จากนักบินท่านนี้เช่นกัน  เชื่อได้ว่าอนาคตของการบินบรูไนนั้น  ถ้ามีนักบินคุณภาพแบบนี้อีกสักสิบคน  มาตรฐานการบินของบรูไนจะต้องแข็งแกร่งมากทีเดียว

Thursday, April 17, 2014

เศรษฐีนีพันล้านคนแรกของไนจีเรีย

นั่งอ่าน Forbes ฉบับพิเศษรวมมหาเศรษฐีพันล้านของโลกประจำปี 2014 พบว่ามีผู้หญิงอยู่ 10% และมีเศรษฐินีผู้หนึ่งซึ่งมีเส้นทางน่าสนใจมาเล่าให้ฟังกันครับ

คุณป้าวัย 63 คนนี้เป็นเศรษฐีนีพันล้านคนแรกของไนจีเรียครับ ชื่อว่า โฟโลรันโช อาลากิจา (Folorunsho Alakija) มีทรัพย์สินอยู่สองหมื่นห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ (คูณ 32 กันเอาเองนะ) ในหนังสือเขาบอกว่าคุณป้าเป็นคนที่สร้างตัวขึ้นมาด้วยตัวเอง มิได้มีมรดกหรือสามีรวยหรือถูกหวยมาแต่อย่างใด เชิญรับชมเรื่องของคุณป้าได้เลยครับ....


คุณป้าแกเริ่มเส้นทางจากเป็นเสมียนในธนาคารมาก่อน แล้วอยู่ๆไปก็เบื่องานที่ทำจึงลาออกไปเรียนแฟชั่นดีไซน์ที่อังกฤษ แล้วก็กลับมาไนจีเรียเพื่อตั้งห้องเสื้อชั้นสูงที่เน้นตลาดคนไฮโซเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในลูกค้าที่ชื่นชอบและสนิทสนมกันก็คือ ภรรยาของนายพลอิบราฮิม บาบันกิด้า ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลทหารไนจีเรียครับ

ด้วยความสนิทสนมนี่เองทำให้ในปี 1993 คุณป้าแฟชั่นแกได้รับสัมปทานสำรวจน้ำมันในน่านน้ำไนจีเรียเป็นพื้นที่ 620,000 เอเคอร์ ซึ่งแกก็ไปว่าจ้างให้บริษัทน้ำมันของอเมริกัน คือ เทกซาโก (Texaco) ให้มาสำรวจดูซิว่ามีน้ำมันอยู่บ้างไหม แล้วก็ตั้งบริษัทชื่อ แฟมฟา ออยล์ ขึ้นมาทำธุรกิจขุดน้ำมันร่วมกับเทกซาโก บังเอิญแจ็กพอทว่าพื้นที่ตรงนั้นคือแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของน่านน้ำไนจีเรียเลยเชียว

ตอนนี้พื้นที่สัมปทานของคุณป้ารู้จักกันในนาม บล็อค OML 127 ครับ

บริษัทแฟมฟา ออยล์ของคุณป้าถือหุ้น 60% ของแหล่งน้ำมันดังกล่าวจนถึงปี 2000 ก็โดนรัฐบาลไนจีเรียในขณะนั้นเรียกส่วนแบ่งคืนรัฐ แต่บริษัทคุณป้าก็สู้กลับในชั้นศาลอยู่กว่าสองปี จนกระทั่งศาลฎีกาตัดสินให้คุณป้าชนะ เมคมันนี่ร่ำรวยจนเป็นอภิมหาเศรษฐีในวันนี้

คุณป้าแกกล่าวถึงโชคชะตาที่พลิกผันของแกว่าเป็นประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าครับ "My entry into the (oil) business was God's own way of leading me down a particular path"

เป็นบ้านเราก็คงต้องบอกว่า ถ้าไม่ส้มหล่นสุดๆ คุณป้าแกก็ต้องเล่นของมีสาลิกาลิ้นทองแน่นอน....จากดีไซเนอร์มาได้สัมปทานบ่อน้ำมันซะงั้น....

เซเว่นของญี่ปุ่น

ไปเดินเที่ยวญี่ปุ่นมาสี่ห้าวัน  สังเกตว่าในญี่ปุ่นนี้เขาก็มีเซเว่นทั่วทุกหนแห่ง  แต่ไม่ใช้ชื่อว่า เซเว่นอีเลเว่น (7-eleven) เหมือนบ้านเรานะครับ  เขาจะใช้ชื่อว่า เซเว่นแอนด์ไอ โฮลดิ้ง (Seven & i holdings)  ก็เลยลองค้นหาที่มาดูก็พบว่า  จริงๆแล้วนี้  เซเว่นอีเลเว่นมีจุดกำเนิดมาจากร้านขายของชำในอเมริกาเมื่อแปดสิบกว่าปีก่อน  โดยในยุคนั้นเขาขายไข่และขนมปัง  ปรากฎว่าขายดิบขายดีก็เลยแตกขยายสาขาออกไปทั่วอเมริกา  จนกระทั่งพอถึงปี 1998 ก็เจอปัญหาเศรษฐกิจว่าต้นทุนสูงเกินไป  จวนเจียนจะล้มละลาย  ก็มีเครือร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นชื่อ Ito-Yakado เข้ามาเทคโอเวอร์  กลายเป็นบริษัทของญี่ปุ่นไปโดยสมบูรณ์  แปรสภาพมาเป็น Seven & i Holdings ซึ่งตัว i นี้ก็มาจาก Ito-Yakado นั่นเอง  มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียว



และบริษัท เซเว่นแอนด์ไอ โฮลดิ้งนั้นก็ไม่ใช่ธรรมดา เพราะนอกจากเป็นเจ้าของแบรนด์เซเว่นแล้ว  เขายังเป็นเจ้าของ ลอฟท์​ (LOFT ที่ขายของน่ารักๆมีสาขาอยู่ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ไง), โรบินสัน และโซโก้อีกด้วย  จัดเป็นเครือร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเลย
 
เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะใช้คำว่า เซเว่นแอนด์ไอโฮลดิ้ง ครับ นอกนั้นทั่วโลกใช้ 7-eleven กันหมด  โดยความแตกต่างก็คือ เซเว่นของญี่ปุ่นนั้น  ไม่ใช่แค่ร้านสะดวกซื้อธรรมดา  แต่เทียบระดับได้กับซุปเปอร์มาร์เก็ตเลยเชียว  มีทั้งขายอาหารสด ให้เช่าวิดีโอ ขายขนม ขายดอกไม้ ขายช็อกโกแลทวาเลนไทน์  ขายการ์ดวันเกิด ขายประกัน  ทำให้แบรนด์ยิ่งแข็งแกร่งแตกยอดออกไปเรื่อยๆ

ถ้าได้เข้าไปเดินในเซเว่นของญี่ปุ่น จะสังเกตเห็นว่ามีตู้ ATM ของเซเว่น แบงก์  ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของเซเว่นแอนด์ไอ  มีบริการกดเงินจากบัตร ATM ได้ทุกแบบที่มีในโลก รวมทั้งยูเนี่ยนเพย์ของจีน แล้วก็ยังโอนเงินไปต่างประเทศได้อีกตะหาก (ผ่านเครือข่ายเวสเทิร์นยูเนี่ยน) ซึ่งเซเว่น แบงก์นี้ก็เป็นธนาคารจริงๆเป็นเรื่องเป็นราว มีบัญชีเงินฝาก มีบัตรเครดิต มีให้กู้เงินได้เหมือนธนาคารทั่วไปด้วยครับ  มีบริการไอแบงก์กิ้งบนมือถือด้วย

บัตรเงินสดสมาร์ทเพิร์สของเซเว่นบ้านเราก็มีไอเดียมาจากเซเว่น แบงก์ของญี่ปุ่นนี่แหละครับ  ซีพีออลล์บ้านเราเอามาทำภายใต้ชื่อ “ไทยสมาร์ทการ์ด"

Lawson ร้านสะดวกซื้ออันดับสองของญี่ปุ่น

ในบรรดาร้านเซเว่นทั่วโลกนั้น  ไทยเรามีจำนวนสาขามากเป็นอันดับสามเลยเชียว  คือ ราวๆ 7600 สาขา (ผ่านทางบริษัท ซีพีออลล์) ซึ่งแน่นอนว่าอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น  อันดับสองคือ อเมริกา  แล้วก็มีสาขาไปอีก 16 ประเทศทั่วโลก นับจำนวนสาขาทั้งหมดได้ราวๆห้าหมื่นกว่าแห่ง  โดยแต่ละประเทศก็จะมีบริษัทมาซื้อแฟรนไชส์ไปทำเซเว่นในประเทศของตัวเอง  ของเมืองไทยเราก็คือ ซีพีออลล์ นั่นเอง (ในตลาดหุ้นใช้ชื่อ CPALL)

ชื่อ 7-elelven นั่นมีที่มาดั้งเดิมจากว่า  ร้านนี้เปิดเจ็ดโมงเช้าถึงห้าทุ่ม (7am - 11pm) ครับ  แม้ตอนนี้เป็นที่รู้กันว่าเปิด 24 ชั่วโมงก็ตาม  แต่แบรนดิ้งคำว่า “เซเว่นอีเลเว่น” นั้นติดตลาดโลกไปเสียแล้ว  บรรดาผู้บริหารก็จึงไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงชื่ออะไรต่อไปอีก

ถ้าพูดถึงเฉพาะในญี่ปุ่น  แบรนด์เซเว่นก็มีคู่แข่งที่สำคัญคือ ลอว์สัน (Lawson) และ แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) ครับ  แต่เมื่อเทียบขนาดแล้วก็ยังสู้เซเว่นไม่ได้

ข้อสังเกตก็คือ ทั้งเซเว่น, ลอว์สัน และแฟมิลี่มาร์ท นั่น  ทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นในอเมริกาครับ  แต่ตอนหลังก็ถูกญี่ปุ่นเทคโอเวอร์หมดกลายเป็นของญี่ปุ่นหมดแล้ว  ใครเคยดื่มเบอร์เบินยี่ห้อ Maker’s Mark ที่ผลิตในรัฐเคนตั๊กกี้ หรือกระทั่งวิสกี้ Jim’s Beam คงจะตกใจถ้าได้รู้ว่าตอนนี้โดนมหาเศรษฐีญี่ปุ่นซื้อไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน......