Friday, April 25, 2014

น้ำมันบรูไน

เมื่ออาทิตย์ก่อน  บริษัทส่งผมไปเยี่ยมชมกิจการ Aviation Department ของบริษัท บรูไน เชลล์ ปิโตรเลียม หรือ บีเอสพี มาครับ  นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไปเปิดหูเปิดตาดูประเทศเพื่อนบ้านของเราว่าประเทศที่ครั้งหนึ่งสุลต่านผู้ปกครองนั้นได้รับการจัดอันดับว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น  ตอนนี้บ้านเมืองเขาเป็นอย่างไร

ระหว่างนั่งรถของโรงแรมจากสนามบินบรูไน อินเทอร์เนชั่นแนลมายังเมืองซีเรียซึ่งเป็นที่ตั้งของบีเอสพีนั้น  ตลอดระยะทาง 60 กิโลเมตรผมก็สังเกตได้ว่าบ้านเรือนและถนนหนทางของเขาก็คล้ายบ้านเรา  แปลกแตกต่างตรงที่บ้านเรือนนั้นไม่มีรั้วเลย  แม้ว่าบรูไนนั้นจะมีขนาดเทียบได้กับจังหวัดเชียงใหม่ของเรา แต่เขาก็มีประชาชนอาศัยอยู่เพียง 400,000 คนเท่านั้น  (กรุงเทพฯมากกว่าห้าล้านคน) และผู้ประกอบการธุรกิจของเขาก็มักจะเป็นคนต่างชาติ เช่น จีน, มาเลเซีย และฝรั่งทั้งหลาย

"ซีเรีย" แหล่งเก็บน้ำมันดิบของบรูไน
ด้วยความร่ำรวยของเงินที่ได้จากน้ำมัน หรือ ที่เรียกกันว่า “Oil Money” นั้น  ทำให้รัฐบาลบรูไนไม่ต้องการเก็บภาษีเงินได้จากประชาชน....ใช่ครับ “ไม่ต้องเสียภาษี”  บรรดาสาธารณูปโภคทั้งหลายล้วนเป็นของขวัญจาก ”น้ำมัน” ครับ  รถยนต์นำเข้าก็ไม่เสียภาษี

บริษัทเชลล์นั้นเข้ามาผูกขาดการขุดเจาะและกลั่นน้ำมันภายในทะเลบรูไนได้ 85 ปีแล้ว และตอนนี้ก็ยังคงดูดกันต่อไปทั้งน้ำมันทั้งก๊าซธรรมชาติ  ราวกับจะไม่มีวันหมด   บรรดาแท่นขุดเจาะน้ำมันของเขาก็อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งเท่าไรนัก คือ ราวๆ 70 กิโลเมตรเท่านั้นเอง  ข้อดีก็คือ ทำให้ operation cost ในการวางท่อส่งน้ำมันหรือขนส่งซัพพลายต่างๆนั้นไม่แพงมาก  เทียบกับในแคนาดานั้นแท่นขุดของเขาอยู่กลางทะเลลึกมากๆ  ห่างจากฝั่งเกือบ 400 กิโลเมตร  ต้นทุนการผลิตก็จะแพงระยับ

ส่วนข้อเสียก็คือ  ภาพวิวจากชายหาดของเขาก็จะไม่งดงามเท่าเมืองไทย  แม้ทรายจะสวยหรือน้ำจะใส  แต่ก็คงไม่บันเทิงสุนทรียภาพทางสายตานักที่จะเล่นน้ำทะเลแล้วเห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ใกล้ๆนะครับ

ทีนี้ถามว่า “อ้าว…ในเมื่อแท่นขุดเจาะเขาใกล้ฝั่งขนาดนี้  ทำไมไม่ใช้เรือขนส่งวิศวกรไปทำงานบนแท่นล่ะ  น่าจะประหยัดกว่าเฮลิคอปเตอร์ตั้งเยอะ?”  คำตอบก็คือ  ทะเลบรูไนในจุดที่เขาขุดเจาะน้ำมันกันนั้นตื้นมากครับ คือ ราวๆ 20 เมตรเท่านั้นเอง  เรือใหญ่ๆแล่นไม่ได้  เพราะจะเกยตื้นหมด ในอดีตเคยมีการทดลองใช้เรือโฮเวอร์คราฟท์กันแล้ว  แต่ก็คงไม่จะไม่สะดวกสบายนัก  เฮลิคอปเตอร์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทั้งด้านความเร็วและความสะดวก

บีเอสพีนั้น  ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ รัฐบาลบรูไน ซึ่งถือหุ้นมากกว่า 50% รองลงมาก็คือ บริษัทเชลล์ ครับ ทำให้กิจการและความมั่นคงของเขาอยู่ในระดับแข็งแกร่งมาก  มีการทำรีเสิร์ชพบว่ามากกว่า 80% ของนักศึกษาจบใหม่ล้วนอยากจะมาร่วมงานกับบีเอสพีครับ  ด้วยความที่รายได้ก็อยู่ในระดับดีมากนั่นเอง

แม้ในตอนนี้ในทะเลบรูไนจะเริ่มมีบริษัทน้ำมันอื่นเข้ามามีส่วนแบ่งขุดเจาะแล้ว  เช่น โทเทล แต่ปั๊มน้ำมันในบรูไนนั้นก็มียี่ห้อเดียวเท่านั้นคือ "เชลล์" ครับ ไม่มียี่ห้ออื่นให้เห็นเลย

เมืองซีเรียที่ผมได้ไปเยี่ยมชมนั้น  เป็นที่ตั้งของถังเก็บน้ำมันดิบในส่วนที่จะนำมากลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในประเทศครับ  ซึ่งเขาจะมีถังเก็บขนาดใหญ่ยักษ์หลายสิบถัง (หน้าตาก็เหมือนกับถังน้ำมันที่อยู่ตรงข้ามสนามบินดอนเมืองน่ะครับ) เรียกว่า Seria Crude Oil Storage พอมองมาอีกฟากถนนก็จะเห็นโรงกลั่นที่จะกลั่นน้ำมันดิบตรงฟากโน้นให้มาเป็นน้ำมันที่พร้อมใช้งานได้ทันที  เรียกได้ว่าดูดปุ๊บ กลั่นปั๊บเลยเชียว  นักบินที่นี่เขาบอกผมว่า  ถ้าเมืองซีเรียเป็นอะไรไป  บรูไนก็จะไม่มีน้ำมันใช้ทันที

นอกจากจะมีน้ำมันใต้พื้นทะเลแล้ว  น้ำมันดิบใต้พื้นดินเขาก็มีครับ  ตลอดสองข้างทางถนนในเมืองซีเรีย  ก็จะเห็นแท่นขุดน้ำมันบนดินให้เห็นอยู่เรียงรายเป็นเรื่องปกติราวกับตู้โทรศัพท์เลยเชียว

แท่นขุดน้ำมันบนดินของเชลล์  พบได้ทั่วไปตามข้างทาง
ถึงตอนนี้ก็คงจะมีคนถามว่า  "แล้วราคาน้ำมันของเขาคงจะถูกกว่าเมืองไทยมากใช่ไหม?”  คำตอบก็เป็นที่แน่นอนว่า “ใช่ครับ”  เท่าที่ผมเห็นก็คือ ราคาถูกกว่าบ้านเราประมาณ 3-4 เท่า คือ 

- เบนซิน 97 ลิตรละ 0.5 $ (15 บาท)
- เบนซิน 92 ลิตรละ 0.513 $ (15.3 บาท)
- เบนซิน 85 ลิตรละ 0.36 $ (10.8 บาท)
- ดีเซล ลิตรละ 0.31 $ (9.3 บาท)

บ้านเราเองก็มีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมายให้บริษัทน้ำมันทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติดูดกันมาหลายสิบปีเช่นกัน  แต่ราคาก็แพงจนไม่น่าเชื่อว่าจะปล้นเงินจากคนแผ่นดินเดียวกันได้ขนาดนี้

บรูไนนั้น แม้พื้นที่เขาจะเล็ก แต่ก็ยังมีป่าไม้คิดเป็นกว่าสามในสี่ของพื้นที่ทั้งประเทศเขาเลยเชียว  ทำให้ขับรถไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้และภูเขากว้างใหญ่ไพศาลสวยงาม  ประเทศนี้ยังเป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดมากๆ ทั้งในเรื่องการทำละหมาด  ซึ่งในทุกๆห้องแม้ในออฟฟิศหรือห้องพักโรงแรม ก็จะมีสติ๊กเกอร์ติดบนเพดาน เป็นลูกศรสีเขียวชี้ไปยังทิศที่ตั้งของนครเมกกะ 

ผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ใช่สามีภรรยากันนั้น เขาห้ามอยู่ในที่ลับตาด้วยกัน หรือกระทั่งการบริโภคเนื้อหมู ซึ่งกฎหมายก็ผ่อนผันให้กับชาวต่างศาสนาว่า  เนื้อหมูนั้นให้ขาย, ปรุง และบริโภคได้โดยคนที่ไม่ใช่มุสลิมเท่านั้น  แต่การบริโภคเหล้าเบียร์นั้นต้องห้ามอย่างยิ่งในประเทศบรูไนครับ

เท่าที่ผมได้คุยกับนักบินชาวบรูไน  ก็ได้ความรู้มาว่า  กฎหมายการบินของบรูไนนั้นอ้างอิงมาตรฐานมาจากยุโรป หรือ EASA ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เคร่งครัดและชัดเจนกว่า ICAO หรือ FAA มากนัก  ด้วยเพราะอาจจะเป็นว่า บริษัท เชลล์ นั้นเป็นบริษัทของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นยุโรปนั่นเอง การมาเปิดกิจการใดๆเขาก็จะเอากฎหมายที่เขาคุ้นเคยมาใช้

นักบินชาวบรูไนคนนี้เป็นทั้ง Flight Instructor และ Technical Pilot ครับ  จบจากโรงเรียนการบินในอเมริกา  พวกเราคงเคยทำงานหรือพูดกับใครแล้วรู้สึกว่า “คนๆนี้คือคนมีความรู้ของจริง”  ผมก็มองเห็นสิ่งนี้จากนักบินท่านนี้เช่นกัน  เชื่อได้ว่าอนาคตของการบินบรูไนนั้น  ถ้ามีนักบินคุณภาพแบบนี้อีกสักสิบคน  มาตรฐานการบินของบรูไนจะต้องแข็งแกร่งมากทีเดียว

No comments:

Post a Comment